ชื่อผลงาน การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ของนักเรียนโรงเรียนวัดบุณฑริการาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
สุราษฎร์ธานี เขต 1 ปีการศึกษา 2565
ผู้รายงาน ว่าที่ร้อยตรีหญิงกนกวรรณ ณ นคร ตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบุณฑริการาม
หน่วยงานที่สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1
ปีการศึกษา 2565
บทสรุปของผู้บริหาร
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดบุณฑริการาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ปีการศึกษา 2565 ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ในการดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดบุณฑริการาม ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึง-ประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดบุณฑริการาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ปีการศึกษา 2565 ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานศึกษา 1 คน ครูผู้สอน 16 คน นักเรียน 96 คน ผู้ปกครองนักเรียน 96 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 คน รวมทั้งสิ้น 212 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับของลิเคิร์ท ซึ่งผู้รายงานได้จัดสร้างขึ้นโดยผ่านการตรวจพิจารณาหาความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างและเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญของแบบประเมินจำนวน 2 ชุด ซึ่งแบบประเมินชุดที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นแอลฟา 0.98 แบบประเมินชุดที่ 2 ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ จำนวน 30 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นแอลฟา 0.96 การจัดเก็บข้อมูล ผู้รายงานดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บโดยแจกแบบประเมิน จำนวน 212 ฉบับ แบบประเมินที่ได้รับคืนมาจำนวน 212 ฉบับ ซึ่งมีความสมบูรณ์ทั้ง 212 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100 แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยสถิติค่าเฉลี่ย (¯X) ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการศึกษาพบว่า
จากการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนวัดบุณฑริการาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 ปีการศึกษา 2565 ผลการประเมินพบว่า ตัวชี้วัดทุกตัว ประเด็นการประเมินทุกประเด็น และภาพรวมของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งหมด คือ
1. ด้านบริบทของโครงการตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผลการประเมินตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับมากทั้ง 3 ตัวชี้วัด คือ ความต้องการและความจำเป็นในการจัดทำโครงการ (4.43) ความชัดเจนของเป้าหมายและองค์ประประกอบของโครงการ (4.31) และความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับกิจกรรมการในโครงการ (4.20)
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากและผลของตัวชี้วัด 4 ตัวชี้วัด ผลการประเมินตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับ มากที่สุด มี 1 ตัวชี้วัด คือ รูปแบบการจัดกิจกรรมในโครงการ (4.52) ส่วนอีก 3 ตัวชี้วัดที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก คือ บุคลากรในการดำเนินโครงการ (4.39) สื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินโครงการ (4.08) และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการ (3.90)
3. ด้านกระบวนการของโครงการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากและผลการประเมินตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับมากทั้ง 3 ตัวชี้วัด คือ กระบวนการจัดกิจกรรม (4.26) การนิเทศ กำกับติดตาม (3.87) และการบริหารจัดการโครงการ (3.81)
4. ด้านผลผลิตของโครงการตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และผลของตัวชี้วัด อยู่ในระดับมากทั้ง 3 ตัวชี้วัด คือ นักเรียนมีพฤติกรรมด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (4.29) นักเรียนมีพฤติกรรมด้านการเรียนรู้ (3.94) นักเรียนมีพฤติกรรมด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (3.88)
จากผลการประเมินทั้ง 4 ประเด็น ได้แก่ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ควรนำผลการประเมินโครงการที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางการปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยส่งเสริมกิจกรรมที่ทำได้ดีให้ดียิ่งขึ้นไป และปรับปรุงกิจกรรมที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับต่ำ
2. การดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนนั้น โรงเรียนควรวางแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพ มีการนิเทศ กำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกัน
3. การประเมินติดตามผลการดำเนินงานทุกกิจกรรมในโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน จะต้องมีการประเมินกิจกรรมทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และเมื่อสิ้นสุดกิจกรรม โดยผู้ดำเนินกิจกรรมทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วมในการติดตามผลและประเมินผล
4. ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งเสริมและปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เช่น ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ปัจจัยเกี่ยวกับชุมชน ปัจจัยเกี่ยวกับโรงเรียน เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาการดำเนินงานตามโครงการต่อไป