ชื่อเรื่อง การพัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่
ผู้วิจัย นายสมชาย สันกลกิจ
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน 2) เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม 3) เพื่อทดลองใช้การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน 2) พัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม 3) ทดลองใช้การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม และ 4) ประเมินผลการใช้การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม โดยพิจารณาตัวชี้วัดคุณภาพของการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนจาก 1) ผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน 3) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 4) ประสิทธิผลการพัฒนาเชิงประจักษ์ที่เป็นผลงานสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน และ 5) ความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม มีสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งมีผลการวิจัย พบว่า
1. การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 การบริหารจัดการสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้หลักการ BKW คือ เครือข่ายพัฒนาการศึกษา (Brainstorming: B) องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Knowledge: K) และโรงเรียนมาตรฐานสากล (World class standard: W) องค์ประกอบที่ 2 การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิผล 5H คือ การพัฒนาความรู้ (Head: H1) พัฒนาจิตใจ (Heart: H2) พัฒนาทักษะ (Hand: H3) พัฒนาสุขอนามัย (Mental Health: H4) และพัฒนาการบริหารจัดการ (Handling: H5) และองค์ประกอบที่ 3 ผลลัพธ์การส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน
2. ผลการประเมินการใช้การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม พบว่า ในภาพรวมมีผลประเมินการใช้รูปแบบทั้งสามองค์ประกอบอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผลการประเมินการใช้รูปแบบองค์ประกอบที่ 1 การบริหารจัดการสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมโดยใช้หลักการ BKW มีผลการดำเนินงานในระดับมากที่สุด องค์ประกอบที่ 2 การบริหารจัดการสถานศึกษาที่ขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิผล 5H มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด และองค์ประกอบที่ 3 ผลลัพธ์การส่งเสริมคุณภาพผู้เรียน มีผลการดำเนินงานแต่ละส่วนประกอบ คือ 1) ผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนบ้านกาดวิทยาคมในภาพรวมอยู่ในระดับดีเลิศ ซึ่งประกอบด้วย ด้านคุณภาพผู้เรียนอยู่ในระดับดีเลิศ ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการอยู่ในระดับดีเลิศ และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับยอดเยี่ยม 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงกว่าเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 70.66 3) คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนสูงกว่าเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 92.63 4) ประสิทธิผลการพัฒนาเชิงประจักษ์ที่เป็นผลงานสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน มีผลงานที่ปรากฏด้านสถานศึกษา ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
3. ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนในรูปแบบ BKW-5H Model โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในภาพรวมพบว่า มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดทุกรายการ