ชื่อผลงานทางวิชาการ รายงานการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้รูปแบบ การประเมินซิป (CIPP Model) โรงเรียนบ้านอาจสามารถ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5
ผู้วิจัย นางปุณยวีร์ จิตศรัทธา
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านอาจสามารถ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
ปีที่รายงาน พ.ศ. 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ เชิงรุก โดยใช้รูปแบบการประเมินซิป (CIPP Model) โรงเรียนบ้านอาจสามารถ จำนวน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านบริบท หรือสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ในประเด็นต่อไปนี้ 1) การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของครู 2) คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานโครงการ และ 3) ความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการ กลุ่มประชากร ได้แก่ ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครอง ระดับชั้นอนุบาล ปีที่ 1 ถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านอาจสามารถ ปีการศึกษา 2564 จำนวน 230 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2564 โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 98 คน จากโรงเรียนบ้านอาจสามารถ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มี 3 ชุด เป็นแบบสอบถามชนิดประมาณค่า 5 ระดับ ชุดที่ 1 - 2 จำนวน 4 ด้านตามรูปแบบ การประเมินแบบซิป (CIPP Model) ประกอบด้วยด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ในประเด็นต่อไปนี้ 1) การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของครู 2) คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานโครงการ ชุดที่ 3 ด้านผลผลิต เป็นแบบสอบถามความพึงพอใจต่อโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้รูปแบบการประเมินซิป (CIPP Model) ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ใช้สถิติเบื้องต้นในการวิเคราะห์ข้อมูลประมวลผล เช่น ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เป็นต้น ผลการประเมินโครงการ พบว่า
การประเมินโดยภาพรวมของโครงการ จำนวน 4 ด้าน อยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านกระบวนการ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านผลผลิต
1) ผลการประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ โรงเรียนมีการกำหนดนโยบายโครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกไว้อย่างชัดเจน รองลงมาได้แก่ กิจกรรมตามโครงการช่วยส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกของคณะครูในโรงเรียนทั้งระบบ ตามลำดับ ส่วนในข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ กิจกรรมตามโครงการสามารถปฏิบัติได้จริง
2) ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Inputs Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ มีแผนงานดำเนินงานโครงการอย่างชัดเจน รองลงมาได้แก่ มีการติดตาม ประเมินผลการนำปัจจัยนำเข้าในการดำเนินงานโครงการอย่างชัดเจนต่อเนื่อง ตามลำดับ ส่วนประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ โรงเรียนมีสถานที่ห้องเรียนที่เอื้อต่อการปฏิบัติกิจกรรมโครงการอย่างเพียงพอ
3) ผลการประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ มีการกำหนดขั้นตอน และวิธีดำเนินงานโครงการที่ชัดเจนเหมาะสม รองลงมาได้แก่ มีการวางแผนงานในการขับเคลื่อนโครงการสู่การปฏิบัติ ตามลำดับ สำหรับประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ มีการเปิดเผยข้อมูล และขยายผลการประเมินโครงการสู่ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับทราบอยู่เสมอ
4) ผลการประเมินด้านผลผลิต (Products Evaluation)
ประเด็นที่ 1 การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของครู โดยภาพรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ สื่อการเรียนรู้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น สื่อดิจิทัล (Word wall, Live work sheet) ใบกิจกรรม ใบความรู้ เครื่องมือวัดฯ ที่ปรากฏในแผนการจัดการเรียนรู้ครบถ้วน รองลงมาได้แก่ กิจกรรมการเรียนรู้มีความเหมาะสม ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning รูปแบบหรือใช้เทคนิคการสอนที่ระบุไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ ครอบคลุมการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ กระบวนการ สมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามลำดับ สำหรับประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ นักเรียนนำเสนอผลงานจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
ประเด็นที่ 2 คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ คณะครูสามารถการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ภายในโรงเรียนได้ทั้งระบบ รองลงมาได้แก่ ครูมีแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างชัดเจน ตามลำดับ สำหรับประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเวลา ให้มีความเหมาะสมตามภาระงาน
ประเด็นที่ 3 ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการ โดยภาพรวม มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ประเด็นที่มีความพึงพอใจสูงสุด ได้แก่ วัตถุประสงค์ และกิจกรรมของโครงการมีความเหมาะสม รองลงมาได้แก่ โรงเรียนมีความพร้อมในการดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีความพึงพอใจต่ำสุด อยู่ในระดับมาก ได้แก่ นักเรียนมีวินัย และมีจิตสาธารณะ