ชื่อเรื่อง รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
โรงเรียนหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์
ผู้รายงาน วิฑูรย์ งามนิธิจารุเมธี
ปีที่จัดทำ 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบ เพื่อสร้าง เพื่อทดลองใช้ และเพื่อประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ซึ่งดำเนินการวิจัยและพัฒนา 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและสรุป ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยยกร่างรูปแบบและจัดทำคู่มือการใช้รูปแบบ จากนั้นประเมินความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบ และแบบตรวจสอบความเหมาะสมคู่มือการใช้รูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ คือ ค่าเฉลี่ย (x̄) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ขั้นตอนที่ 3 ผลการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยนำไปปฏิบัติจริงในปีการศึกษา 2565 กับครูโรงเรียนหนองบัว จำนวน 93 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง เพื่อประเมินคุณภาพแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และสมรรถนะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินคุณภาพแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และแบบประเมินสมรรถนะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ คือ ค่าเฉลี่ย(x̄) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ ครูโรงเรียนหนองบัว ปีการศึกษา 2565 จำนวน 93 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ใน 4 ประเด็น ได้แก่ ด้านความเป็นประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ คือ ค่าเฉลี่ย(x̄) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ ซึ่งดำเนินการโดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า การขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อพัฒนาความรู้ สมรรถนะและคุณลักษณะของผู้เรียน องค์ประกอบของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุกมี 8 องค์ประกอบ ได้แก่ การแบ่งปันคุณค่าและวิสัยทัศน์ การร่วมมือรวมพลังมุ่งสู่การเรียนรู้ของผู้เรียน การร่วมมือรวมพลัง การรับคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญและการสังเกตชั้นเรียน การสนทนาสะท้อนผลการปฏิบัติงาน การจัดสภาพที่เอื้ออำนวย การสนับสนุนและการเป็นผู้นำร่วมกัน ชุมชนกัลยาณมิตรมีกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นวิเคราะห์ ขั้นวางแผนการจัดการเรียนรู้ ขั้นปฏิบัติและสังเกตการณ์ ขั้นสะท้อนผลเพื่อการพัฒนา และขั้นสรุป แก้ไขปรับปรุง และพัฒนาต่อเนื่อง
2. รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ เป็นการร่วมมือรวมพลังของผู้บริหารและครู โรงเรียนหนองบัวในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาครูให้มีทักษะการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก สมรรถนะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และการสร้างสรรค์ สื่อนวัตกรรมการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและเป้าหมายของหลักสูตรที่กำหนดไว้ โดยรูปแบบมี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) หลักการ (2) วัตถุประสงค์ (3) องค์ประกอบของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 8 องค์ประกอบ (4) กระบวนการเรียนรู้ (5) การวัดและประเมินผล และ (6) เงื่อนไขความสำเร็จ โดยรูปแบบมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3.ผลการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โรงเรียนหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ พบว่า (1) คุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนหนองบัว มีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
(2) ครูมีสมรรถนะการจัดการเรียนรู้เชิงรุกมีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เชิงรุก โรงเรียนหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครสวรรค์ ด้านความถูกต้องครอบคลุม ด้านความเป็นประโยชน์ ด้านความเหมาะสม และด้านความเป็นไปได้ มีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด