ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับ
การเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์
เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
ผู้วิจัย นางสาวภัทรวดี คำยา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนนาข่าวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีที่ทำการวิจัย ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๕
บทคัดย่อ
ในการพัฒนาครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการวิจัยเพื่อ ๑) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ๒) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ๓) ศึกษาผลการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น ดังนี้ ๓.๑) หาประสิทธิภาพของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๓.๒) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ๓.๓) เปรียบเทียบความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ๓.๔) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ๔) เพื่อประเมินการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น การวิจัยแบ่งเป็น ๔ ระยะ ระยะที่ ๑ กลุ่มเป้าหมายคือ ครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทย จำนวน ๖ คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๑๒ คน จากโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสารและแบบสัมภาษณ์ ระยะที่ ๒ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๗ คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองใช้ (Try-Out) คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ทั้งหมดจำนวน ๓๗ คน ได้แก่ ทดลองแบบเดี่ยว จำนวน ๓ คน ทดลองแบบกลุ่มเล็ก จำนวน ๙ คน และ ทดลองภาคสนาม จำนวน ๒๕ คน (ซึ่งไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างจริง) เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบประเมินรูปแบบ และเครื่องมือประกอบการใช้รูปแบบ ระยะที่ ๓ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑/๑ จำนวน ๒๕ คน ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๕ โรงเรียนนาข่าวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ ๑) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน ๑๔ แผน ๒) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีค่าความยากง่าย (p) ตั้งแต่ ๐.๓๓-๐.๗๒ และมีค่าอำนาจจำแนก (B) ตั้งแต่ ๐.๒๕-๐.๗๙ และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๑ ๓) แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับพฤติกรรมชี้วัดความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (IOC) ตั้งแต่ ๐.๘๐ ๑.๐๐ ระยะที่ ๔ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทย โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม จำนวน ๒๐ คน เครื่องมือที่ใช้แบบประเมินความคิดเห็น สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ t-test (Independent system)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาภาษาไทยยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากครูผู้สอนเน้นการสอนแบบบรรยาย ยึดตัวครูเป็นสำคัญ เน้นการท่องจำมากกว่าการฝึกให้นักเรียนลงมือ ครูและนักเรียนมีความต้องการพัฒนาทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ มากกว่าการจำเนื้อหา ต้องการเน้นนักเรียนเป็นสำคัญโดยให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งสามารถพัฒนาทักษะภาษาไทยด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๒. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ มีชื่อว่า (IPACA Model) มีองค์ประกอบที่พัฒนาขึ้น ๖ องค์ประกอบ คือ ๑) หลักการ ๒) วัตถุประสงค์ ๓) กระบวนการจัดการเรียนรู้ ๔) ระบบสังคม ๕) หลักการตอบสนอง และ ๖) สิ่งสนับสนุน มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ ๕ ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ ๑ นำเข้าสู่บทเรียน (Introduction) ขั้นที่ ๒ ขั้นนำเสนอเนื้อหาหรือสร้างสถานการณ์ (Presentation) ขั้นที่ ๓ ขั้นปฏิบัติการเรียนรู้ (Action of Learning) ขั้นที่ ๔ สื่อสารและนำเสนอ (Communication and presentation) และ ขั้นที่ ๕ ขั้นการประเมินผล (Assessment Stage) ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณภาพเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๕๘
๓. ผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาไทยตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ (IPACA Model) พบว่า ๑) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ (E๑/E๒) เท่ากับ ๘๔.๑๒/๘๓.๗๖ ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ที่ตั้งไว้ ๒) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น
มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ๓) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ๔) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น โดยรวมอยู่ในระดับมาก
๔. ผลการประเมินความคิดเห็นของครูผู้สอนรายวิชาภาษาไทยต่อการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง ชนิดและหน้าที่ของคำ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ (IPACA Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก