การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการในการพัฒนาสถานศึกษาสู่สถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model และ3) เพื่อทดลองใช้ และประเมินผลการบริหารสถานศึกษาโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model ใช้วิธีเชิงปริมาณและวิธีเชิงคุณภาพ ดำเนินการศึกษากับแหล่งข้อมูลโดยเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดในส่วนของครู จำนวน 26 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 12 คน แหล่งข้อมูลในส่วนของผู้ปกครอง จำนวน 201 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างด้วยตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และเมอร์แกน (Krejcie & Morgan) และเลือกแบบเจาะจง (Purposive selection) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (rating scale) 5 ระดับ และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิโดยการวิเคราะห์เนื้อหา การวิจัยแบ่งเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน ความต้องการในการพัฒนาสถานศึกษาสู่สถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ ตอนที่ 2 ผลการสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model และ ตอนที่ 3 ผลการทดลองใช้ และประเมินผลการบริหารสถานศึกษาโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model
ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า
1. สภาพปัจจุบัน และความต้องการในการพัฒนาสถานศึกษาสู่สถานศึกษาพอเพียง
1.1 สภาพปัจจุบันในการพัฒนาสถานศึกษาสู่สถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาล
ลานกระบือ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง
1.2 ความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสถานศึกษาสู่สถานศึกษาพอเพียง พบว่าความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสถานศึกษาสู่สถานศึกษาพอเพียง คือ ต้องการให้บุคลากรในสถานศึกษามีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมชุมนุมที่หลากหลายสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมและบริบทของสถานศึกษา ต้องการให้สถานศึกษาส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนหน่วยการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต้องการให้สถานศึกษามีโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมนักเรียนให้อยู่อย่างพอเพียงสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมและบริบทของสถานศึกษา
2. ผลการสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model
2.1 รูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ส่วนนำ ประกอบด้วย แนวคิด หลักการ วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ ส่วนที่ 2 องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model ประกอบด้วย M: Management (การบริหารจัดการ)
A: Active Learning (การจัดการเรียนรู้เชิงรุก) S: Sufficiency-Based School (สถานศึกษาพอเพียง) K: Knowledge Management (การจัดการความรู้: KM) และส่วนที่ 3 ยุทธศาสตร์การดำเนินงานและเงื่อนไขความสำเร็จ
2.2 ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model โดยรวมมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ
3. ผลการทดลองใช้ และประเมินผลการบริหารสถานศึกษาโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model
3.1 การทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model พบว่า สถานศึกษาสามารถดำเนินการตามกระบวนการของรูปแบบฯ ส่งผลให้ผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง สถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สถานศึกษาพอเพียง ประจำปีการศึกษา 2563 จากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564
3.2 ความพึงพอใจต่อการบริหารสถานศึกษาโดยใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนเทศบาลลานกระบือ โดยใช้ MASK Model พบว่า มีความความพึงพอใจ โดยรวมอยู่ในระดับมาก