ชื่อโรงเรียน สองพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่
ชื่อผลงาน การยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน
โรงเรียนสองพิทยาคมโดยการประยุกต์ใช้วิธีการเชิงระบบ (System Approach)
1. ความสำคัญของผลงาน
โรงเรียนสองพิทยาคมเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 6 โดยมีกระบวนการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวชี้วัด คุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยวิธีการที่หลากหลาย รวมถึงการวัดผลและประเมินผลการศึกษาที่ตรงตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตรเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนรู้ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้สถานศึกษาทุกแห่งไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศยกเลิกการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาความเครียด ของผู้เรียน อย่างไรก็ตามการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ยังคงมีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนและสถานศึกษา อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพของผู้เรียนตลอดจนนำไปสู่ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา และในปีการศึกษา 2564 โรงเรียนสองพิทยาคมได้จัดให้มีการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของทั้ง 4 รายวิชา มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ (สทศ, 2564 : 1-4) ซึ่งแตกต่างจากปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา ที่คะแนนเฉลี่ยของบางวิชาที่ต่ำกว่าระดับประเทศ และมีบางสาระที่ยังอยู่ในจุดที่ต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ วิชาภาษาไทย ในสาระวรรณคดีและวรรณกรรม มีคะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนร้อยละ 50.31 วิชาภาษาอังกฤษ ในสาระภาษาเพื่อการสื่อสาร มีคะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนร้อยละ 30.29 วิชาคณิตศาสตร์ ในสาระสถิติและความน่าจะเป็น มีคะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนร้อยละ 18.93 และวิชาวิทยาศาสตร์ ในสาระวิทยาศาสตร์กายภาพ มีคะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนร้อยละ 27.98 (สทศ, 2563 : 1-4) ในส่วนของการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2564 ไม่ปรากฏข้อมูลการสอบ แต่ปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา ผลการทดสอบ 5 รายวิชา มีเพียงวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ และมีบางสาระที่ยังอยู่ในจุดที่ต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน (สทศ, 2563 : 1-5) ดังข้อมูลต่อไปนี้
ตารางเปรียบเทียบผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3
ระหว่างระดับโรงเรียน และระดับประเทศ ปีการศึกษา 2563-2564
จากสถิติผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ที่กล่าวมาข้างต้น ทุกวิชาล้วนมีจุดที่ควรเร่งพัฒนา โรงเรียนสองพิทยาคมจึงตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนกระบวนการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน รวมถึงการวัดผลและประเมินผลการศึกษาที่เป็นไปตามมาตรฐานและตรงตัวชี้วัดของหลักสูตร ซึ่งสะท้อนจากผลการทดสอบทางการศึกษา ระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยการประยุกต์ใช้วิธีการเชิงระบบ (System Approach) ของ ลูเนนเบอร์กและออนสไตน์ (Lunenburg and Ornstein, 2012) ในการบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในภาพรวมของทุกรายวิชาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืนตามลำดับ
2. จุดประสงค์และเป้าหมายของผลงาน
(1) จุดประสงค์
- เพื่อประยุกต์ใช้วิธีการเชิงระบบ (System Approach) ในการบริหารจัดการเพื่อยกระดับ
ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ให้มีความต่อเนื่อง
(2) เป้าหมาย
เป้าหมายเชิงปริมาณ
- ครูทุกคนได้รับการพัฒนาตนเองในการสร้างสื่อและใช้สื่อออนไลน์เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน
- ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนสูงกว่าระดับประเทศ
ทุกรายวิชา
เป้าหมายเชิงคุณภาพ
- ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น
- การบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป
3. ขั้นตอนการดำเนินงาน
โรงเรียนสองพิทยาคม ได้นำหลักวิธีการเชิงระบบ (System Approach) มาใช้ในการบริหารงานวิชาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4 รายวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 5 รายวิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้
1. ข้อมูลนำเข้า (Input) ได้แก่ ปัจจัยทางการบริหาร ด้านคน (Man) เช่น ผู้บริหาร ครู นักเรียน ด้านงบประมาณ (Money) ด้านวัสดุอุปกรณ์ (Material) และด้านการบริหารจัดการ (Management) เช่น นโยบายต้นสังกัด นโยบายโรงเรียน การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการประจำปี เป็นต้น
2. กระบวนการ (Process) เป็นขั้นดำเนินการที่ใช้วงจรคุณภาพ "PDCA" ในกระบวนการกำกับนิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุง ทุกกิจกรรมและทุกโครงการที่ปฏิบัติ โดยเน้นการจัดการใน 4 ประเด็น ดังนี้
1) Session Management: การจัดประชุม หรือสัมมนาเพื่อวิเคราะห์บริบทของโรงเรียน (SWOT Analysis) ในด้านของผลการจัดการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ทั้ง 5 วิชา ซึ่งเป็นข้อมูลในการริเริ่มพัฒนา หรือแก้ไขปัญหา เช่น การจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เป็นต้น
2) People Management: การบริหารบุคลากร และพัฒนาบุคลากรด้านความรู้ในการจัดทำหลักสูตรระดับชั้นเรียน การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ และการวัดประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อให้ครูมีความรู้ความสามารถและเกิดความมั่นใจในการจัดการเรียนการสอน มีการนิเทศภายในสถานศึกษาโดยครูผู้นิเทศร่วมกับผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ
3) Knowledge Management: การสร้างองค์ความรู้ ทบทวน แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนภายในสถานศึกษา การพัฒนาการนิเทศภายในสถานศึกษา การพัฒนาคลังข้อสอบของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้โดยผ่านการวิเคราะห์ข้อสอบกลางภาคและปลายภาค และให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวชี้วัด ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำโครงการกิจกรรมสอนเสริมเติมเต็มของนักเรียนการสอนเสริมก้าวหน้าสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 โดยครูผู้สอน โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยวิทยากรภายนอก
4) Technology: การใช้สื่อ การสร้างสื่อเทคโนโลยี การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ครูใช้คลังสื่อ Obec Content Center ในกิจกรรมการเรียนการสอน รวมถึงการจัดการข้อมูลสารสนเทศของนักเรียน ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ทั้ง 5 วิชา เพื่อใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป
3. ผลลัพธ์ (Output) เป็นขั้นการประเมินพฤติกรรมผู้เรียนว่าเกิดผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนแล้วโดยนำผลการวัดมาประเมิน ถ้าผู้เรียนบรรลุผลตรงตามวัตถุประสงค์ก็แสดงว่าการจัดการเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ
4. ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เป็นการวิเคราะห์ผล หรือย้อนกลับมาพิจารณาปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนของ ข้อมูลนำเข้า (Input) หรือกระบวนการ (Process) โดยพิจารณาจากผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ผลการทดสอบ หรือความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอน หากไม่บรรลุผลตามจุดประสงค์ต้องพิจารณาหาสาเหตุของความบกพร่องและปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อไป
4. ผลการดำเนินการ ผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ที่ได้รับ
ผลที่เกิดตามวัตถุประสงค์
ผลการดำเนินงานวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) เรื่อง การยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนโรงเรียนสองพิทยาคมโดยการประยุกต์ใช้วิธีการเชิงระบบ (System Approach) มีผลการดำเนินงานสอดคล้องตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ดังนี้
โรงเรียนสองพิทยาคมมีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยใช้วิธีการเชิงระบบ (System Approach) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้เกิดความต่อเนื่อง ทำให้ครูได้พัฒนาศักยภาพ มีความมั่นใจในการจัดการศึกษา และมีจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งในห้องเรียน และเติมเต็มความรู้จากกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่าง ๆ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทุกระดับชั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2565 สูงกว่าระดับประเทศทั้ง 4 รายวิชา เช่นเดียวกับปีการศึกษา 2564 โรงเรียนจึงได้รับเกียรติบัตรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่ ยกย่องให้โรงเรียนสองพิทยาคมเป็นโรงเรียนที่มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2565 สูงกว่าระดับประเทศทุกรายวิชา
ผลสัมฤทธิ์ของงาน
จากการดำเนินการยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนโรงเรียนสองพิทยาคมโดยการประยุกต์ใช้วิธีการเชิงระบบ (System Approach) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน งานในภาพรวมทั้งองค์กร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ครู และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสองพิทยาคมอยู่ในระดับดีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 94.81 อยู่ในระดับดีเลิศ
ประโยชน์ที่ได้รับ
โรงเรียนมีวิธีการเชิงระบบ (System Approach) เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ให้มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง
5. ปัจจัยความสำเร็จ
1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่ เป็นหน่วยงานต้นสังกัดที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มีการนิเทศติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
2) ผู้บริหารตระหนัก ให้ความสำคัญ และสนับสนุนการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน อำนวยความสะดวกด้านการจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา อุปกรณ์เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงมีแนวทางการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามรถในการสร้างสื่อนวัตกรรม และใช้สื่อเทคโนโลยีในการเรียนการสอน
3) ครูมีความพร้อมและความตั้งใจที่นำประสบการณ์การทำงานมาพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง และเปิดใจพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลนักเรียนโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลักการ
4) นักเรียนปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทความรับผิดชอบ และความสามารถของตนอย่างเต็มที่ มีความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และมีวินัยในการเรียน
6. บทเรียนที่ได้รับ
บทเรียนที่ได้รับ จากการดำเนินงาน โดยใช้กระบวนการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประกอบด้วยประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) สถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมของโรงเรียนที่วางแผนไว้ไม่สามารถจัดขึ้นได้ ดังนั้น การวางแผนงานต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ รวมถึงใช้สื่อเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกับนักเรียนและปกครองให้มากขึ้น
2) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการให้การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียน เป็นไปตามความสมัครใจ ส่งผลให้ผลการทดสอบในภาพรวมอาจไม่สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้อย่างแท้จริง จึงยากต่อการเปรียบเทียบผลการทดสอบกับโรงเรียนอื่นๆ