บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของประเมินโครงการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย โรงเรียนเทศบาล ๒ วัดเกษมสรณาราม (วงศ์ประชานุเคราะห์) 4 ด้านตามรูปแบบ CIPPIEST ได้แก่ 1) ด้านบริบท 2) ด้านปัจจัยนำเข้า 3) ด้านกระบวนการ 4) ด้านผลผลิต โดยพิจารณารวมอีก 4 ด้าน คือ 4.1) ด้านผลกระทบ 4.2) ด้านประสิทธิผล 4.3) ด้านความยั่งยืน และ 4.4) ด้านการถ่ายโยงความรู้ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในประเมิน เป็นครู จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน เด็กปฐมวัยปีที่ 1-3 จำนวน 57 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 1-3 จำนวน 57 คน รวมจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 126 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Five Rating Scales) โดยประเมินความเหมาะสมมากที่สุดถึงน้อยที่สุด จำนวน 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 สำหรับครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สอบถามความคิดเห็น ที่มีต่อประเด็นคำถามเกี่ยวกับด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ ฉบับที่ 2 สำหรับครู เด็กปฐมวัย และผู้ปกครอง สอบถามความคิดเห็นที่มีต่อประเด็นคำถามเกี่ยวกับด้านผลผลิต คือ ทักษะการคิดขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย และฉบับที่ 3 สำหรับครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง สอบถามความคิดเห็นที่มีต่อประเด็นคำถามเกี่ยวกับด้านผลผลิตที่พิจารณารวมถึง ผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายโยงความรู้ ผู้ประเมินเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง สถิติที่ใช้ ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (มิว) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ซิกม่า) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการประเมินพบว่า
1. ด้านบริบท (Context) พบว่า โครงการมีความสอดคล้องชัดเจนของวัตถุประสงค์ ของโครงการกับความเหมาะสมในการนำไปปฏิบัติได้จริงสอดคล้องกับสภาพปัญหาของครูผู้สอน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ทุกข้ออยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ หลักการและเหตุผลของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รองลงมาคือ แนวทางการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาของเด็กปฐมวัยและการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครู ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์และการดำเนินการของโครงการ
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า โครงการมีความสอดคล้องชัดเจนของวัตถุประสงค์ของโครงการกับความเหมาะสมในการนำไปปฏิบัติได้จริงสอดคล้องกับสภาพปัญหาของครูผู้สอน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 3 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ และมอบหมายงานเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของบุคลากรดี รองลงมาคือ มีการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการอย่างดี ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ มีงบประมาณในการดำเนินการที่เพียงพอ
3. ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า การบริหารและการดำเนินงานของโครงการ ตลอดจนการวางแผนการแก้ไข แนวทางการปฏิบัติ กำกับ ติดตามและการนิเทศ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 7 ข้อ โดยข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ เชิงรุกของครูผู้สอนเป็นไปตามแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ออกแบบไว้ รองลงมามีค่าเฉลี่ยเท่ากัน ได้แก่ การจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้ เรื่อง กระบวนการจัดการเรียนการสอนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และทักษะการคิดขั้นพื้นฐานของเด็ก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การดำเนินการนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
4. ด้านผลผลิต (Product) พบว่า ทักษะการคิดขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัยโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 3 ทักษะ เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการเรียงลำดับ และทักษะการจัดและแยกประเภทสิ่งต่างๆ (การจัดหมวดหมู่) อยู่ในระดับมาก 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะการเปรียบเทียบ ทักษะการจำแนก (การนับ) ทักษะการเชื่อมโยง และทักษะรูปทรงและขนาด (การตีความ)
4.1 ด้านผลกระทบ (Impact) พบว่า การดำเนินโครงการมีผลสะท้อนจากผลผลิต ในด้านผลกระทบ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด 4 ข้อ ได้แก่ เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการทุกด้านโดยองค์รวมสูงขึ้น มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ครูมีสื่อ นวัตกรรมและเครื่องมือที่เกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างหลากหลายและสร้างสรรค์ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ เด็กปฐมวัยมีทักษะทางด้านอื่นๆ สูงขึ้น
4.2 ด้านประสิทธิผล (Effective) พบว่า การดำเนินการโครงการมีผลสะท้อนจากผลผลิตในด้านประสิทธิผล โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ ได้แก่ ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพฤติกรรมตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ พัฒนาการโดยองค์รวม และทักษะการคิดขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูและข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ โรงเรียนมีนวัตกรรมที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครูและเด็กปฐมวัย
4.3 ด้านความยั่งยืน (Sustainability) พบว่า การดำเนินโครงการมีผลสะท้อนจากผลผลิตในด้านความยั่งยืน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 4 ข้อ ได้แก่ โรงเรียนดำเนินการพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย อย่างต่อเนื่อง มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ เด็กปฐมวัยมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ครูผู้สอนสามารถนำความรู้และแนวคิดจากกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มาพัฒนาเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ที่สอดคล้องเนื้อหาสาระประสบการณ์ และความสนใจของเด็กปฐมวัยทุกช่วงวัย ได้อย่างหลากหลาย
4.4 ด้านการถ่ายโยงความรู้ (Transportability) พบว่า การดำเนินโครงการมีผลสะท้อนจากผลผลิตในด้านการถ่ายโยงความรู้ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด 3 ข้อ ได้แก่ เด็กปฐมวัยมีทักษะการคิดขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตประจำวันและทำงานร่วมกับผู้อื่น มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ครูมีกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) ระหว่างครูในโรงเรียนและต่างโรงเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ครูได้เป็นวิทยากรฝึกอบรมกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้กับโรงเรียนทั้งในและนอกสังกัด