ผู้ประเมิน มงคล สุนทรีสุริยพงษ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนคีรีมาศพิทยาคม
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการ
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนคีรีมาศพิทยาคม จังหวัดสุโขทัย ครั้งนี้ ผู้ประเมินใช้การประเมินรูปแบบซิป (CIPP MODEL) มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อม (Context) ปัจจัยเบื้องต้น (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิตของโครงการ (Product) โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4 คน (ศึกษาจากประชากร) ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 30 คน เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling)คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน (เนื่องจากผู้อำนวยการและครูเป็นกรรมการร่วมในคณะกรรมการสถานศึกษา) เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 291 คน เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) ตามสัดส่วนนักเรียนตามระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเครซีและมอร์แกน (Krejcie and Morgan) รวมจำนวน 338 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามความคิดเห็น ของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียนเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนคีรีมาศพิทยาคม จังหวัดสุโขทัย ในด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการดำเนินงาน และด้านผลผลิต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำผลการคำนวณมาแปลความหมายตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ผลการประเมิน พบว่า โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนคีรีมาศพิทยาคม จังหวัดสุโขทัย โดยภาพรวม มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาผลการประเมินโครงการ เป็นรายด้าน พบว่า ด้านสภาวะแวดล้อมมีผลการประเมินสูงสุด อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ด้านปัจจัยปัจจัยเบื้องต้น
ด้านกระบวนการดำเนินงาน และ ด้านผลผลิต ตามลำดับ ซึ่งมีระดับผลการประเมินในระดับมาก
1. การประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการ (Context Evaluation : C)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา
ครูผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะกรรมการสถานศึกษา พบว่า โดยภาพรวม มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาผลการประเมินโครงการ เป็นรายข้อ พบว่า มีความสอดคล้องเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด 7 ข้อ โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของโรงเรียน โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุโขทัย โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับนโยบายของโรงเรียน โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับเวลาและสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีความสอดคล้องเหมาะสม อยู่ในระดับมาก มีจำนวน 3 ข้อ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับสภาพของชุมชน โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีความสอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ของโรงเรียน โครงการโรงเรียนวิถีพุทธเหมาะสมกับศักยภาพและทรัพยากรของโรงเรียนและชุมชน ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินตามเกณฑ์แสดงว่ามีความสอดคล้อง
2. การประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ (Input Evaluation : I)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะกรรมการสถานศึกษา พบว่า โดยภาพรวม มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาผลการประเมินโครงการ เป็นรายด้าน พบว่า มีความเหมาะสมเพียงพอ อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 1 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการและสนับสนุนของฝ่ายบริหาร ส่วนด้านที่มีความเหมาะสมเพียงพอ อยู่ในระดับมาก จำนวน 3 ด้าน โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ ด้านวัสดุอุปกรณ์และอาคารสถานที่ ด้านบุคลากร และด้านงบประมาณ ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินตามเกณฑ์แสดงว่ามีความเหมาะสมเพียงพอ
3. การประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการ (Process Evaluation : P)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะกรรมการสถานศึกษา พบว่า โดยภาพรวม มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และทุกด้านมีระดับการปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ ด้านการปรับปรุง พัฒนาต่อเนื่อง และเผยแพร่ผลการดำเนินการ ด้านการดูแลสนับสนุนใกล้ชิด ด้านการวางแผนการดำเนินงาน และด้านการดำเนินการพัฒนาตามระบบไตรสิกขาตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินตามเกณฑ์แสดงว่ามีการปฏิบัติเหมาะสม
4. การประเมินด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation : P)
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบโครงการ คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน พบว่า ผลการดำเนินการโครงการ ด้านผลผลิตตามโครงการ โดยภาพรวม มีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก และทุกด้านมีระดับการปฏิบัติ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้ าารพัฒนาการด้านกาย การพัฒนาการด้านศีล การพัฒนาการด้านปัญญา และการพัฒนาการด้านจิต ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินตามเกณฑ์แสดงว่ามีผลการปฏิบัติเหมาะสม