ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนวัดป่างิ้ว
องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี
ผู้วิจัย นางสาวณัฐชานันท์ โชตินิรันตนานุกูล
สถานศึกษา โรงเรียนวัดป่างิ้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ พัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนวัดป่างิ้ว ขั้นตอนการวิจัยมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้ได้กรอบของการวิจัย และร่างรูปแบบ ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนวัดป่างิ้ว และระยะที่ 3 การรับรองรูปแบบการจัดการความรู้เพื่อ พัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนวัดป่างิ้ว พื้นที่ที่ศึกษา ได้แก่ โรงเรียนวัดป่างิ้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 2 คน หัวหน้ากลุ่มวิชาการ จำนวน 1 คน ครูทีมการจัดการความรู้งานวิชาการ จำนวน 8 คน ครูผู้สอน จำนวน 31 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยา
ผลการวิจัยพบว่า
1) กระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ประกอบด้วย 7 ภารกิจ ดังนี้ 1) การสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน 2) การกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน 3) การร่วมมือรวมพลัง 4) การชี้แนะหรือการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ 5) การสนทนาเพื่อสะท้อนผล 6) เงื่อนไขการสนับสนุน 7) การเรียนรู้และการพัฒนาวิชาชีพ
2) กระบวนการจัดการความรู้ด้านการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ของโรงเรียนวัดป่างิ้ว มี 5 กระบวนการ ประกอบด้วย 1) การกำหนดเป้าหมายและบ่งชี้ความรู้ 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ 3) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ 4) การจัดเก็บความรู้ให้เป็นระบบ 5) การเรียนรู้
3. รูปแบบการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนวัดป่างิ้ว มี 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการดำเนินงาน 4) ระบบสนับสนุน และ 5) การนำรูปแบบไปใช้ ประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนวัดป่างิ้ว มีความเหมาะสม มีความถูกต้อง และมีความเป็นไปได้ของการนำไปใช้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนวัดป่างิ้ว