ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี
ผู้วิจัย นางสาวราตรี ศักดิ์อุบล
ปีที่ทำวิจัย 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม วิธีดำเนินการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ตอน คือ 1) การศึกษาสภาพการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม โดยการวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและการสนทนากลุ่ม จากผู้บริหาร 2) การสร้างรูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม มีการตรวจสอบรูปแบบโดยการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ 3) การทดลองใช้รูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม ทดลองใช้ในโรงเรียน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และ 4) การประเมินรูปแบบการบริหาร เพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม โดยการจัดประชุมประชาพิจารณ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ครู-บุคลากร และผู้ปกครองนักเรียน
ผลการวิจัยพบว่า
1. โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม มีสภาพการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โดยยึดหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม มีการกำหนดภาพความสำเร็จของการบริหารงานโดยยึดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ของโรงเรียนเป็นหลัก โครงสร้างการบริหารงานของโรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม ประกอบด้วย 4 ฝ่าย ได้แก่ 1) ฝ่ายบริหารงานทั่วไป 2) ฝ่ายบริหารงานวิชาการ 3) ฝ่ายบริหารงานบุคคล และ 4) ฝ่ายบริหารงานงบประมาณ มีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียนในรูปโครงการ/กิจกรรมเสริม และใช้ระบบการนิเทศ ติดตามและประเมินผล โดยใช้การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการนิเทศภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
2. รูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสมที่สร้างขึ้น พัฒนาจากระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ (Integrated Educational Management System : EMS) ประกอบด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้
2.1 ภาพลักษณ์ความสำเร็จ (Success Image) ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ และจุดมุ่งหมาย
2.2 โครงสร้างการบริหาร (Organization Structure) ประกอบด้วย กลุ่มบริหารทั่วไป กลุ่มบริหารวิชาการ กลุ่มบริหารงานบุคคล และกลุ่มบริหารงบประมาณ
2.3 การบริหารจัดการ (Management) ได้แก่ กลยุทธ์ (Strategy) ในการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญา ประกอบด้วย การมีส่วนร่วม (Participation) การระดมทรัพยากร (Mobilization) ความเป็นอิสระ (Autonomy) และการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของ นักเรียน ประกอบด้วย กิจกรรมในหลักสูตร 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 3 กิจกรรม กิจกรรม พัฒนาผู้เรียน จำนวน 4 กิจกรรม และกิจกรรมเสริมหลักสูตร จำนวน 4 กิจกรรม
2.4 การกำกับติดตาม (Monitoring) โดยเน้นกระบวนการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลแบบ 360 องศา ตามสภาพจริงทุกรายการ
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม เป็นผลที่ได้จากการประเมินความสามารถทางพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม พบว่า นักเรียนมีความสามารถทางพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ทั้ง 9 ด้าน
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม พบว่า ครูที่ปรึกษา และผู้ปกครองนักเรียน มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริหารเพื่อพัฒนาพหุปัญญาของนักเรียน โรงเรียนเทศบาลตำบลน้ำโสม อยู่ในระดับมาก