เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี สติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งจะนำไปสู่ ความสุข ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง ปรัชญานี้ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning) เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนา มาจากแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เผยแพร่ในปลายศตวรรษที่ 20 ที่เรียกว่าการเรียนรู้ที่เน้นบทบาท และการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เป็นการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆไม่เน้นให้ผู้เรียนท่องจำ แต่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงและมีบทบาทในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองโดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์และเรียนรู้จากกิจกรรมที่ได้ทำจริง (Learning by doing) โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมใน การสร้างองค์ความรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์ และการร่วมมือกัน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกัน มีวินัยในการทำงาน และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกัน โดยผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง โดยการใช้วิธีการสอนด้วยกิจกรรมเป็นฐาน มาบูรณาการร่วมกับเนื้อหาบทเรียน เพื่อการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมได้(ฝ่ายส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน สำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555;NCSALL., 2006; Pang, K., 2010)
บริบททั่วไปของโรงเรียนบ้านเม็ก ต.ข้าวสาร อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 4 มีทรัพยากรรอบด้าน โดยมีพื้นที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก มีบ่อน้ำที่สามารถเลี้ยงปลา และมีทรัพยากรบุคคลมีภูมิรู้ในการดำเนินงานเศรษฐกิจพอเพียง จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นที่มาของการดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะความพอเพียง โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาคุณลักษณะความพอเพียงของนักเรียน ตลอดจนพัฒนาเป็นโมเดลการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านความพอเพียงเพื่อเป็นวัตกรรม สร้างสรรค์คนดี ในการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านความพอเพียง ให้แก่สถานศึกษาอื่นหรือหน่วยงานอื่นๆ และมุ่งพัฒนาคุณธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านเม็กในด้านความพอเพียง ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์โรงเรียนบ้านเม็กที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเด่น บริเวณสะอาด บรรยากาศร่มรื่น โดยผลการวิจัยพบว่า
1)ผลการศึกษาและพัฒนารูปแบบกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาคุณลักษณะความพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนบ้านเม็กจากการศึกษาและพัฒนารูปแบบกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้สู่การปฏิบัติพอเพียง โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีผู้บริหารและครูเป็นผู้ขับเคลื่อน ดำเนินการในการพัฒนาคุณธรรมด้านคุณลักษณะความเพียงให้ลงสู่การปฏิบัติจริงของนักเรียนผ่านกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้พอเพียง ที่ผู้บริหารและคณะครูได้พัฒนาขึ้น โดยอาศัยหลักทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวกับคุณลักษณะด้านความพอเพียง งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณลักษณะความพอเพียง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐานและการศึกษางานวิจัยที่ใช้การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเป็นฐาน จนพัฒนาเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ 9 ฐาน สู่ปฏิบัติการพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาคุณลักษณะพอเพียงให้เกิดขึ้นกับนักเรียน โดยพบว่า นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การอยู่อย่างพอเพียง และเกิดทักษะอาชีพผ่านการปฏิบัติฐานการเรียนรู้พอเพียงเพียง ตลอดจนสามารถเผยแพร่องค์ความรู้และการปฏิบัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ในภาพรวมร้อยละ 80
2) ผลของการพัฒนาโมเดลการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะความพอเพียง ของนักเรียนโรงเรียนบ้านเม็ก
จากผลที่ได้จากการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะพอเพียงข้างต้น ตามโมเดลการดำเนินการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะพอเพียง ทำให้ผู้บริหาร และคณะครู ทราบแนวทางที่เป็นปัจจัยการดำเนินที่สามารถพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะพอเพียง ผ่านการบูรณาการความรู้สู่แผนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ผ่านการดำเนินการขับเคลื่อน พัฒนาร่วมกันของผู้บริหารและคณะครู และเมื่อนักเรียนเกิดองค์ความรู้ ความเข้าใจทางทฤษฎีเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและการอยู่อย่างพอเพียง ผู้บริหารและคณะครูได้ร่วมกันออกแบบพัฒนาฐานการเรียนรู้พอเพียงเพื่อใช้เป็นฐานกิจกรรมในการเรียนรู้และพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะความพอเพียง โดยนำเสนอได้ดังแผนภาพโมเดลการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะความพอเพียง
3)ระดับคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะความพอเพียง ของนักเรียนโรงเรียนบ้านเม็ก
ผลการวิเคราะห์ ระดับคุณธรรมนักเรียนด้านคุณลักษณะความพอเพียง ภาพรวมของระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ด้านความพอประมาณ มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (X ̅ = 3.95-4.53) มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ระหว่าง (.58-.87) โดย การใช้ทรัพยากรของส่วนรวมอย่างประหยัด คุ้มค่าและเก็บรักษาดูแลอย่างดีสามารถพึ่งตนเองได้มีการปฏิบัติมากที่สุด (X ̅ = 4.53) รองลงมาคือ การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายพออยู่พอกิน ด้านความมีเหตุผล มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (X ̅ = 4.05-4.51) มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ระหว่าง (.64-.81) โดยการมีจิตสำนึกที่ดีเอื้ออาทร และนึกหลัก คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมมีการปฏิบัติมากที่สุด (X ̅ = 4.51) รองลงมาคือการมีคุณธรรมและใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ปฏิบัติตนไม่เอาเปรียบผู้อื่นและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ด้านการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว มีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (X̅ = 3.72-4.15) มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ระหว่าง (.54-.83) โดยการกำหนดเป้าหมายในการปฏิบัติงานหรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันมีการปฏิบัติมาก (X ̅ = 4.15) รองลงมาคือยอมรับและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข