ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model)
ผู้รายงาน นายจักรี มนต์ประสิทธิ์
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการ
โรงเรียนบ้านเนินจำปา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
ปีที่รายงาน 2566
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) มีวัตถุประสงค์ของการประเมินเพื่อประเมินโครงการทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านบริบทของโครงการ (Context Evaluation) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) ได้แก่ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาจากกลุ่มประชากร ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 24 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 13 คน (โดยไม่นับรวมผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการครูที่เป็นตัวแทนครู) ที่ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) นักเรียน โดยใช้นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 225 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 225 คน ที่ได้มาจากการใช้ตารางการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, pp. 608-609) รวมทั้งสิ้นจำนวน 487 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นข้อคำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีทั้งสิ้นจำนวน 5 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการ
ผลการประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ โครงการมีความเหมาะสมและมีความจำเป็นในการแก้ปัญหา ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ มีแผนการดำเนินงานตามโครงการอย่างชัดเจน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ งบประมาณในการดำเนินโครงการมีเพียงพอ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ขณะดำเนินงานตามโครงการมีการแก้ไขปรับปรุงวิธีการดำเนินโครงการเมื่อพบว่าบกพร่อง ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ รูปแบบการจัดกิจกรรมในโครงการช่วยให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรม
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตจากการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ อยู่อย่างพอเพียง ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ซื่อสัตย์ สุจริต และเมื่อเรียงลำดับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน สามารถเรียงลำดับได้ดังนี้คือ อยู่อย่างพอเพียง รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รักความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ มุ่งมั่นในการทำงาน ใฝ่เรียนรู้ ความมีวินัย และซื่อสัตย์สุจริต
5. ผลการประเมินด้านผลผลิตจากการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของโรงเรียนบ้านเนินจำปา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินซิปป์ (CIPP Model) ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติตนให้มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ สามารถรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ นำมาปรับและประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมอื่น
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. การดำเนินการโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน ควรได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานจากหน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
2. หน่วยงานต้นสังกัด ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม โดยการเข้าร่วมโครงการ และกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ต้องมีการปฏิบัติต่อเนื่องกันหลาย ๆ ปี
3. กิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ ควรมีการปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และปัจจัยเบื้องต้น ของสถานศึกษา เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ให้มากที่สุด
ข้อเสนอแนะเพื่อการประเมินครั้งต่อไป
เพื่อให้ผลการประเมินนี้มีผลสืบเนื่องต่อไปในอนาคต ผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะที่อาจจะเป็นประโยชน์สาหรับการประเมินในโอกาสต่อไป ดังนี้
1. ควรศึกษาเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลต่อการดำเนินงานโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนของสถานศึกษาให้ต่อเนื่องจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างจริงจัง
2. นำผลการประเมินโครงการที่ได้ เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจ ปรับปรุง แก้ไขในด้านต่าง ๆ ที่ได้ค้นพบ โดยส่งเสริมกิจกรรมที่โรงเรียนสามารถทำได้ดีให้ดียิ่งขึ้น