ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ โดยประยุกต์ใช้การประเมินรูปแบบของเคริกแพทริค (Kirkpatrick) โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์
ชื่อผู้วิจัย : นางภัททิรา ลัดดากลม
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ โดยประยุกต์ใช้การประเมินรูปแบบของเคริกแพทริค (Kirkpatrick) โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ โดยประยุกต์ใช้การประเมินรูปแบบของเคริกแพทริค (Kirkpatrick) โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ผู้ให้ข้อมูล ครู จำนวน ๙๑ คน ที่เข้าร่วมโครงการฯ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน ๖ ฉบับ ผ่านการหาความตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญประเมิน จำนวน ๕ คน และมีค่า IOC ผ่านเกณฑ์ทุกข้อ เครื่องมือที่เป็นแบบทดสอบวัดความรู้ แบบวัดทักษะ และแบบวัดเจตคติ ได้ผ่านการทดลองใช้กับครู จำนวน ๓๐ คน เพื่อหาค่าอำนาจจำแนกและค่าความเที่ยง (Reliability) มีค่าอำนาจจำแนกผ่านเกณฑ์ทุกข้อ และค่าความเที่ยงผ่านเกณฑ์ทุกฉบับ เก็บข้อมูล ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะที่ ๑ ดำเนินการเก็บข้อมูลทันทีเมื่อจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเสร็จสิ้นระยะที่ ๒ เก็บข้อมูลหลังจากอบรมผ่านไปแล้ว ๔ เดือน และติดตามผล ๓ รอบ ระยะที่ ๓ เก็บข้อมูลหลังจากอบรมผ่านไป ๑ ปี ๖ เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบทีแบบไม่อิสระ (dependent samples t test) ผลการประเมินพบว่า
๑. ครูผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๙๑ คน มีวิทยะฐานะครูชำนาญการพิเศษ ค.ศ.๓ จำนวน ๕๙ คน ครูชำนาญการ ค.ศ.๒ จำนวน ๒๐ คน ครู ค.ศ.๑ จำนวน ๑๐ คน และครูผู้ช่วย ๒ คน
๒. ผลการประเมินด้านปฏิกิริยา (Reaction) พบว่า ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ มีความพึงพอใจต่อการเข้ารับการฝึกอบรมในด้านการจัดการ ด้านสถานที่ ด้านอาหารและอาหารว่าง ด้านเอกสารความรู้ ด้านความเป็นประโยชน์ ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ปฏิบัติจริงในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจด้านวิทยากรและด้านสื่อโสตทัศนูปกรณ์ในระดับมากที่สุด
๓. ผลการประเมินโครงการด้านการเรียนรู้ (Learning) พบว่า
๓.๑ ครู วิทยะฐานะที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกกลุ่มวิทยะฐานะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลื่อนวิทยะฐานะตามเกณฑ์ ว.PA ภายหลังการฝึกอบรมมีค่าสูงกว่าก่อนการฝึกอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๓.๒ ครู วิทยะฐานะที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกกลุ่มวิทยะฐานะมีทักษะการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะตามเกณฑ์ ว.PA ภายหลังการฝึกอบรมมีค่าสูงกว่าก่อนการฝึกอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๓.๓ ครูที่เข้าร่วมโครงการฯ มีเจตคติที่ดีมากต่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะตามเกณฑ์ ว.PA ภายหลังการฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา พิษณุโลก อุตรดิตถ์
๔. ผลการประเมินด้านพฤติกรรม (Behavior) พบว่า
๔.๑ พฤติกรรมด้านทักษะการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียนของครูเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะตามเกณฑ์ ว.PA ของครูที่เข้าร่วมโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
๔.๒ พฤติกรรมด้านการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ของครูที่เข้าร่วมโครงการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
๔.๓ พฤติกรรมด้านการพัฒนาผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะตามเกณฑ์ ว.PA ของครูวิทยะฐานะชำนาญการพิเศษ ค.ศ.๓ ที่เข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างการพัฒนาผลงานทางวิชาการ จำนวน ๑๔ คน มีผลการประเมินผลงานทางวิชาการในภาพรวม มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละเท่ากับ ๗๑.๐๐ จากคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน
๕. ผลการประเมินด้านผลลัพธ์ (Results) พบว่า
๕.๑ ครูที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ จำนวน ๙๑ คน สามารถเลื่อนวิทยะฐานะระหว่างร่วมโครงการ จำนวน ๒๖ คน คิดเป็น ๒๘.๕๗% เมื่อพิจารณาแยกทีละกลุ่ม พบว่า ครูผู้ช่วย จำนวน ๒ คน เลื่อนวิทยะฐานะเป็นครู ค.ศ.๑ จำนวน ๒ คน คิดเป็น ๑๐๐% ครู ค.ศ.๑ จำนวน ๑๐ คน เลื่อนวิทยะฐานะเป็นครู ค.ศ.๒ จำนวน ๖ คน คิดเป็น ๖๐.๐๐% ครู ค.ศ.๒ จำนวน ๒๐ คน เลื่อนวิทยะฐานะเป็นครู ค.ศ.๓ จำนวน ๔ คน คิดเป็น ๒๐.๐๐% และครู ค.ศ.๓ จำนวน ๕๙ คน อยู่ระหว่างทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะ ค.ศ.๔ จำนวน ๑๔ คน คิดเป็น ๒๓.๗๓%
๕.๒ ครูที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ โรงเรียนจ่านกร้อง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิษณุโลก อุตรดิตถ์ จำนวน ๙๑ คน สามารถจัดทำผลงานตามเกณฑ์ ว.PA เพื่อเลื่อนเงินเดือนประจำปี ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีการแก้ไข จำนวน ๙๑ คน คิดเป็น ๑๐๐%