ชื่อเรื่อง โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์)
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง
ผู้รายงาน ตฤณสิงห์ อิ่มใจ
โรงเรียน โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ของโรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) ของการดำเนินโครงการ กลุ่มตัวอย่าง ทั้งหมด 754 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบประเมินมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) ตามแนวคิดของลิเคอร์ท (Likert) จำนวน 60 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (x ̅) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD)
ผลการวิจัย พบว่า
1.ผลการประเมินการดำเนินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน โดยภาพรวมทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับมากที่สุด โดยด้านกระบวนการ (Process) มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาคือด้านผลผลิต (Product) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) และด้านบริบท (Context) ตามลำดับ
2. ด้านบริบท (Context) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ด้านบริบท ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านบริบทคือด้านความสอดคล้องของนโยบาย ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีความสอดคล้องกับนโยบาย ของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ตรงความต้องการของครู กรรมการสถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านหลักการและเหตุผล ซึ่งประกอบไปบริบทของโรงเรียนมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการดำเนินโครงการ หลักการและเหตุผลของโครงการมีความสอดคล้องกับความเป็นจริง สภาพปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน และสภาพปัจจุบันและปัญหาของโรงเรียนสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
3. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านปัจจัยนำเข้า คือ ด้านการบริหารจัดการในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันซึ่งประกอบไปด้วยมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม และทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันอยู่เสมอ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ ส่วนประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านวัสดุอุปกรณ์ซึ่งประกอบไปด้วยวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ และทันสมัย มีเพียงพอต่อความต้องการ มีความเหมาะสมกับสภาพและบริบทของสถานศึกษา
4. ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านกระบวนการ คือ ด้านการนิเทศกำกับติดตามและตรวจสอบซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหาร หรือหัวหน้างานมีการนิเทศ ให้คำแนะนำ ดูแลครูผู้ปฏิบัติงานในการดำเนินงานตามโครงการอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ มีการตรวจสอบ และประเมินเป็นระยะ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และมีการกำกับติดตามการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความถูกต้องตามแผนโครงการที่ได้วางไว้ ส่วนประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านการออกแบบวางแผนโครงการประกอบไปด้วยโรงเรียนมีการศึกษาดูงาน ประชุม ระดมความคิด กำหนดบทบาทหน้าที่มีคำสั่งแต่งตั้งที่ชัดเจน เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบ และพัฒนาโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง รวมไปถึงสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
5. ด้านผลผลิต (Product) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ด้านผลผลิต ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ ซึ่งประกอบไปด้วยนักเรียนมีความสามารถในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างนวัตกรรม นำกระบวนการต่างๆไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น
ส่วนประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านคุณภาพผู้เรียน ซึ่งประกอบไปด้วยนักเรียนมีความใฝ่เรียนรู้ ขยันหมั่นเพียร ความมุมานะ และมุ่งมั่นในการปฏิบัติทำงาน ซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการอ่าน การเขียน การสื่อสาร และการคิดคำนวณ