ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ โรงเรียนอนุบาลตาดควัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4
ผู้รายงาน นายชรินทร์ คำหล้า
ปีที่จัดทำ 2564 - 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพัฒนารูปแบบ
2) เพื่อสร้างรูปแบบ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบ และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ โรงเรียนอนุบาลตาดควัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 วิธีการดำเนินการวิจัยและพัฒนาใช้การศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รูปแบบการบริหารและการพัฒนารูปแบบการบริหาร แนวคิดโรงเรียนร่วมพัฒนา แนวคิดและทฤษฎีการบริหารสถานศึกษา การพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ การส่งเสริมทักษะอาชีพนักเรียนโดยใช้ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ศึกษาสภาพและความต้องการพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ จากครูและคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 16 คน สัมภาษณ์ผู้บริหาร ครู และภาคีเครือข่ายของโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา จำนวน 5 โรงเรียน ตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบโดยการสนทนากลุ่มผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน จากนั้นนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปใช้ในการปฏิบัติจริงในปีการศึกษา 2564 - 2565 เพื่อศึกษาผลการพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ ผลการพัฒนาทักษะอาชีพนักเรียน และผลการประเมินทักษะกระบวนการแก้ปัญหา และทำการประเมินรูปแบบด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต โดยภาคีเครือข่ายของโรงเรียน จำนวน 21 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสรุปข้อมูล การสัมภาษณ์ การประเมิน และการสำรวจความคิดเห็น และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและสรุปข้อมูล สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อใช้ประกอบการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาทักษะอาชีพนักเรียน แนวทางการบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้สนับสนุน พัฒนาบุคลากร สร้างศูนย์การเรียนรู้ จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้
ศูนย์การเรียนรู้ ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ นำผลจากการปฏิบัติและการเรียนรู้ไปจำหน่ายในชุมชน และ
วัดและประเมินผลองค์ความรู้ของนักเรียนโดยให้เขียนรายงาน
2. รูปแบบการบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ โรงเรียนอนุบาลตาดควัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) เป้าหมาย 3) ปัจจัยนำเข้า 4) กระบวนการ 5) ผลผลิต 6) สภาพแวดล้อม โดยมีปัจจัยนำเข้า ได้แก่ ภาคีเครือข่ายสถานศึกษา งบประมาณ ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวก ข้อมูลเชิงพื้นที่ และประเด็นการพัฒนาร่วมกัน และมีกระบวนการ 6 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 เตรียมเครือข่ายในพื้นที่ (Preparing) ขั้นที่ 2 ขั้นวางแผนพัฒนา (Planning) ขั้นที่ 3 ขั้นร่วมพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (Doing) ขั้นที่ 4 ขั้นร่วมพัฒนาผู้เรียน (Learning) ขั้นที่ 5 ขั้นติดตามและสะท้อนผล (Monitoring & Reflecting) ขั้นที่ 6 ขั้นสร้างเครือข่ายและขยายผล (Networking) โดยทุกขั้นตอนผู้มีการจูงใจ (Motivation) เป็นกลไกขับเคลื่อนทุกขั้นตอน และมีข้อมูลย้อนกลับซึ่งเป็นกลไกกำกับในการดำเนินงาน คือ มาตรฐานและตัวบ่งชี้การบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนา ผลการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบมีมาตรฐานความเป็นไปได้ มาตรฐานความเป็นประโยชน์ มาตรฐานความเหมาะสม และมาตรฐานความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ โรงเรียนอนุบาลตาดควัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 พบว่า
1) โรงเรียนอนุบาลตาดควันมีศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและโครงการพัฒนาดอยตุง องค์การบริหารส่วนตำบลตาดควัน ปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้โรงเรียนมีความพร้อมสำหรับใช้แหล่งเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพนักเรียน 2) นักเรียนได้รับการฝึกทักษะอาชีพจากศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ จำนวน 8 แหล่งเรียนรู้ ได้แก่ แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงแพะ แหล่งเรียนรู้การปลูกเมล่อน แหล่งเรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์น้ำนิ่งและน้ำวน แหล่งเรียนรู้การปลูกผักระบบน้ำอัตโนมัติ แหล่งเรียนรู้การเย็บหมวก แหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น การเล่นดนตรีไทย การตีกลองสะบัดชัย แหล่งเรียนรู้การทำขนมและเบเกอรี่ และแหล่งเรียนรู้สหกรณ์โรงเรียนเพื่อกิจกรรมนักธุรกิจน้อย และ 3) จากการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ทั้ง 8 แหล่งเรียนรู้ พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 มีทักษะกระบวนการแก้ปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับดี
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อพัฒนาศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ โรงเรียนอนุบาลตาดควัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ตามความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายสถานศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด