กิจกรรม ส่งเสริมการรักการอ่าน
การพัฒนาการอ่านสะกดคำ การอ่านออกเสียงคำ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้สื่อและกระบวนการเรียนรู้ตามรูปแบบ Brain-based learning: BBL
ว่าที่ ร.ต.หญิงบุญญาพร สุขใจดี
ที่มาและความสำคัญ
ในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการอ่านมีความสำคัญและจำเป็นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความจำเป็นที่ต้องใช้การอ่านตลอด ทั้งในเรื่องส่วนตัว หรือด้านการทำงานในแต่ละวัน ถ้าหากมีรากฐานการอ่านที่ดีก็จะทำให้สื่อความหมายและสื่อภาษาจากสิ่งที่อ่านได้เร็วและเข้าใจมากขึ้น ในสังคมที่มีความเจริญจะพบว่าสังคมนั้นมีการอ่านมากเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้จากการจัดการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย ก็ได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกคนอ่านออก เขียนได้เป็นสิ่งแรก เพราะขั้นตอนต่อไปของการเรียนการสอนต้องใช้การอ่านเป็นพื้นฐาน ถ้านักเรียนอ่านไม่ได้ก็ไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนได้ โดยเฉพาะการเรียนการสอนในปัจจุบัน เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมหรือค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมการอ่าน จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 มีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาการอ่านของนักเรียน โดยมีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถการอ่าน เขียนและคิดคำนวณของผู้เรียนทุกระดับชั้น และกำหนดจุดเน้นในการดำเนินงานเรื่องการอ่านนออกเขียนได้ จากผลรายงานการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test: RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 พบว่า ผลการประเมินการอ่านออกเสียงร้อยละ 33.33 อยู่ในระดับดี ร้อยละ 46.66 อยู่ในระดับพอใช้ และร้อยละ 20 อยู่ในระดับปรับปรุง ซึ่งผลการเมินต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด อาจเป็นผลมาจากการจัดการเรียนรู้และคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งนักเรียนบางส่วนเกิดการเรียนรู้ได้ช้า ไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่หลักสูตรกำหนด ดังนั้น ครูผู้สอนจึงจัดทำกิจกรรมการพัฒนาการอ่านสะกดคำ และการอ่านออกเสียงคำ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้สื่อและกระบวนการเรียนรู้ตามรูปแบบ Brain-based learning: BBL
กระบวนการเรียนรู้ตามรูปแบบ Brain-based learning หรือ BBL เป็นการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เป็นการนำองค์ความรู้เรื่องสมองมาใช้เป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เป็นแนวการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักการของสมองกับการเรียนรู้ การเรียนรู้ต้องใช้ทุกส่วนทั้งการคิด ความรู้สึก และการลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของสมอง ซึ่งครูผู้สอนได้นำหลักการ BBL มาประยุกต์ใช้ในการจัดการจัดกิจกรรมพัฒนาการอ่านสะกดคำ การอ่านออกเสียงคำ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้สื่อและกระบวนการเรียนรู้ตามรูปแบบ Brain-based learning: BBL
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะการอ่าน
2. เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกอ่านคำให้คล่อง และเกิดการพัฒนาเป็นนิสัยรักการอ่าน
สื่อและอุปกรณ์
1. ไม้ไอศกรีม
2. ช้อนพลาสติก
3. ใบงาน
การจัดกิจกรรม
1. นักเรียนได้รับไม้ไอศกรีมคนละ 1 อัน เพื่อใช้ในการชี้คำ หรือ นักเรียนจะได้รับช้อนพลาสติกที่มีพยัญชนะ สระ และตัวสะกดสำหรับการประสมคำ
2. นักเรียนได้รับใบงานในหัวข้อเรื่องต่างๆ ครั้งละ 1 ใบงาน
3. นักเรียนใช้ช้อนในการประสมคำและฝึกอ่าน หรือนักเรียนลงมือทำใบงานและฝึกอ่านสะกดคำ อ่านออกเสียงคำในใบงานและสื่อการสอนและใช้ไม้ไอศกรีมในการชี้คำ จากนั้นอ่านให้เพื่อนๆ และครูฟังเพื่อเป็นการทบทวนเกี่ยวกับคำที่อ่าน
4. นักเรียนฝึกอ่านจนคล่องโดยมีครูคอยให้คำแนะนำหากนักเรียนออกเสียงไม่ถูกต้อง นักเรียนที่สามารถอ่านได้แล้วจะคอยช่วยเหลือเพื่อนที่ยังอ่านไม่คล่อง
5. นักเรียนทดสอบอ่านคำให้ครูฟังทีละคน
การวัดและประเมินผล
1. สังเกตความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียน
2. ทดสอบการอ่านคำของนักเรียน
สรุปผล
กิจกรรมส่งเสริมการรักการอ่าน การพัฒนาการอ่านสะกดคำ การอ่านออกเสียงคำ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้สื่อและกระบวนการเรียนรู้ตามรูปแบบ Brain-based learning: BBL จำนวน 19 คน เมื่อดำเนินกิจกรรมการรักการอ่านแล้ว นักเรียนร้อยละ 80 สามารถอ่านสะกดคำและอ่านออกเสียงคำได้คล่องแคล่วมากขึ้น และการอ่านของนักเรียนพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักเรียนที่อ่านคล่องแล้วจะมีการขยายผลโดยการอ่านแบบฝึกหัดอ่าน และอ่านประโยคต่างๆ อ่านหนังสือเรียน หนังสือในห้องสมุดที่ตนเองสนใจ และอ่านบทความตามป้ายต่างๆได้ ส่วนนักเรียนที่เมื่อก่อนยังอ่านไม่คล่อง ก็จะสามารถอ่านได้คล่องขึ้นเพราะได้เกิดจากการฝึกฝนอยู่เป็นประจำ
ข้อเสนอแนะ
1. ควรออกแบบกิจกรรมย่อยเพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน
2. ควรออกแบบใบงานให้เหมาะสมกับนักเรียนเป็นรายบุคคล
3. ควรเพิ่มรูปแบบของสื่อการสอนให้หลากหลาย