บทนำ
ในยุคการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก การพัฒนาการศึกษาก็เช่นกัน ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลวิธีการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่มีความแตกต่างไปจากเดิม อันเป็นผลาจากธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความแตกต่างออกไป การสอนแบบครูเป็นศูนย์กลาง (teacher center) อาจไม่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันต้องมีการประยุกต์การจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับบริบทของสังคม ให้เหมาะสมตรงตามกับตัวผู้เรียนและยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student center) เช่น การจัดการเรียนการสอนที่ต้องเน้นลงมือปฏิบัติและสืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง (active learning) โดยมีครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ชักชวนให้สืบค้นหาความรู้ และนำสู่การปฏิบัติจริงอย่างสร้าง กระบวนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว ครูผู้สอนอาจจะต้องมีมุมมองในหลายมิติ ทั้งทางด้านพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน ฐานความรู้ของนักเรียน ร่วมถึงลักษณะนิสัยของนักเรียนด้วย
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการการลงมือปฏิบัติจริง ครูผู้สอนต้องอาศัยประสบการณ์ในการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล รวมถึงร่วมแรกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมสายวิชาชีพเดียวกัน โดยผ่านกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (professional learning communities : PLC) ซึ่งจะเป็นแนวทางแห่งการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับครูผู้สอนและเป็นการพัฒนานักเรียนไปพร้อม ๆ กันด้วย
ความเป็นมาของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (professional learning community) เป็นกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเรียนรู้จากการปฏิบัติงานของกลุ่มบุคคลที่มารวมตัวกันเพื่อทางานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกัน วางเป้าหมายการเรียนรู้ของผู้เรียน และตรวจสอบ สะท้อนผลการปฏิบัติงานทั้งในส่วนบุคคลและผลที่เกิดขึ้นโดยรวมผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานร่วมกัน การร่วมมือรวมพลัง โดยมุ่งเน้นและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม โดยมีการดำเนินการอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้ 1) มีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการเรียนรู้/การพัฒนาผู้เรียนให้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ 2) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากหน้างาน/สถานการณ์จริงของชั้นเรียน 3) ทุกฝ่ายเกี่ยวข้องร่วมเรียนรู้และรวมพลัง/หนุนเสริมให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมาย 4) มีการวิพากย์ สะท้อนผลการทางานพัฒนาผู้เรียน และ 5) มีการสร้าง HOPE ให้ทีมงาน อันประกอบด้วย (1) honesty & humanity เป็นการยึดข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นและให้การเคารพกันอย่างจริงใจ (2) option & openness เป็นการเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้เรียนและพร้อมเปิดเผย/เปิดใจเรียนรู้จากผู้อื่น (3) patience & persistence เป็นการพัฒนาความอดทนและความมุ่งมั่น ทุ่มเทพยายามจนเกิดผลชัดเจน (4) efficacy & enthusiasm เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในผลของวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนว่าจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้และกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ (เรวดี ชัยเชาวรัตน์ , 2558)
คุณลักษณะสำคัญที่ทำให้เกิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โรงเรียนใดมี PLC นั้น นอกจากจะต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลดังที่กล่าวไปแล้วนั้น การรวมตัวกันของสมาชิกชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพยังต้องประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ โดยมีการกล่าวถึงคุณลักษณะสำคัญที่จะทาให้เกิด PLC ไว้อย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตามสามารถสรุปคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้เกิด PLC ได้ 5 ประการ คือ 1) การมีบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน (shared values and vision) 2) การร่วมกันรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน (collective responsibility for students learning) 3) การสืบสอบเพื่อสะท้อนผลเชิงวิชาชีพ (reflective professional inquiry) 4) การร่วมมือรวมพลัง (collaboration) และ 5) การสนับสนุนการจัดลำดับโครงสร้างและความสัมพันธ์ของบุคลากร (supportive conditions structural arrangements and collegial relationships) (Hord, Roussin & Sommers , 2009)
แนวทางสู่ความสำเร็จของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
แนวทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จของการจัดกระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพควรเริ่มจากที่ทุกคนในกลุ่มเห็นถึงความสำคัญและยอมรับตรงกันว่า 1) การสอนและการปฏิบัติงานของครู มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน 2) การเรียนรู้ของครู คือ การเรียนรู้ของผู้เรียน 3) ครูมีความแตกต่างกัน 4) การสอนบางครั้งต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ และสัมพันธภาพแบบกัลยาณมิตร (สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน , 2560) โดยมีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบแห่งการพัฒนา ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน หมายถึง มีเป้าหมายทิศทางเดียวกัน มุ่งสู่การพัฒนาการเรียนการสอน สู่คุณภาพผู้เรียน
2. ร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมมือ หมายถึง ต้องเปิดใจรับฟังเสนอวิธีการ นำสู่การปฏิบัติและประเมินร่วมกัน Open เปิดใจรับ และให้ Care และ Share
3. ภาวะผู้นำร่วม หมายถึง การทำ PLC ต้องมีผู้นำและผู้ตามในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
4. กัลยาณมิตร หมายถึง เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพ เติมเต็มส่วนที่ขาดของแต่ละคน
5. ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร หมายถึง ต้องเน้นการทำงานที่เปิดโอกาสการทำงานที่ช่วยเหลือกันมากกว่าการสั่งการ มีชั่วโมงพูดคุย
6. การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพ หมายถึง การเรียนรู้การปฏิบัติงานและตรงกับภาระงานคือการสอนสู่คุณภาพผู้เรียน
กระบวนการการจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ
1. ต้องมีการรวมกลุ่ม และกลุ่มนั้นต้องมีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่น จัดกลุ่มครูที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน กลุ่มครูที่สอนวิชา/กลุ่มสาระเดียวกันในระดับชั้นเดียวกัน กลุ่มครูที่สอนวิชา/กลุ่มสาระเดียวกันในช่วงชั้นเดียวกัน กลุ่มครูตามลักษณะงาน แต่ละกลุ่มมีสมาชิก 6 - 8 คน (ผู้บริหาร/ศึกษานิเทศก์ หมุนเวียนเข้าร่วม ทุกกลุ่ม) โดยใช้ระยะเวลา 2 - 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตลอดหนึ่งปีการศึกษา กำหนดเป็นชั่วโมงชัดเจนจะดีมาก หรืออาจจะจัดชั่วโมงอยู่ในภาระการสอนของครู/ภาระงานเพื่อไม่ให้ครูถือว่าเป็นภาระเพิ่มขึ้นก็ได้
2. บทบาทของบุคคลในการจัดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ประกอบด้วย
2.1 ผู้อำนวยความสะดวก มีหน้าที่ รักษาระดับการมีส่วนร่วมของสมาชิก ควบคุม
ประเด็นการพูดคุย ยั่วยุให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น
2.2 สมาชิก มีหน้าที่ เปิดใจรับฟัง และเสนอความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ พร้อมรับ
แนวทางไปปฏิบัติและนำผลมาเสนอ พร้อมต่อยอด
2.3 ผู้บันทึก มีหน้าที่ สรุปประเด็นการสนทนาและแนวทางแก้ปัญหา พร้อมบันทึก
Logbook
3. กลุ่มร่วมกันคิด ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน หาปัญหาสำคัญที่สุด สิ่งที่ต้องระวัง คือ การไม่ช่วยกันค้นหาปัญหาที่แท้จริง ผลักปัญหาออกจากตัว
4. หาสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา จากนั้นกลุ่มอภิปรายหาสาเหตุที่แท้จริง เน้นไปที่การสอนของครูเป็นอันดับแรก ที่ถือว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริง เช่น นักเรียนอ่านไม่ออก เป็นปัญหาสำคัญร่วมกัน ไม่ใช่สาเหตุว่า พ่อแม่แยกทาง
5. หาแนวทางแก้ไข ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน ที่สำคัญนั้น จะแก้ไขอย่างไรดูสาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ปัญหาอาจใช้ประสบการณ์ของครูที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ผู้ทรงคุณวุฒิ งานวิจัย หรือแหล่งอื่นๆ ที่มีการเสนอแนวทางไว้แล้ว จากนั้น สรุปแนวทางการแก้ปัญหาสำคัญ 1 เรื่อง หรือ 2 เรื่องตามสภาพของโรงเรียน
6. นำแนวทางที่สรุปเพื่อนำไปแก้ไขปัญหา มาช่วยกันสร้างงาน สร้างแผนงาน เลือกการจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem based learning : PBL) โดยมีสิ่งที่ต้องทำต่อ คือทำอย่างไร ทำเมื่อไร ใช้อย่างไร และตรวจสอบการทำงานอย่างไร จะเสนอผลระหว่างทำงานและสรุปผลเมื่อไร
7. นำแผนที่ร่วมกันคิดไปใช้ตามกำหนดการทำงาน ต้องนำไปใช้อย่างจริงจัง และกล้าเสนอผล จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม และพร้อมจะนำไปปรับปรุง ต้องนำผลมาเสนอตามช่วงเวลา ผลงานที่อาจนำเสนอกันในช่องทาง Line หรือ Facebook หรือรูปแบบอื่นๆ
8. นำผลมาสรุปสุดท้ายว่าผลเป็นประการใด ร่วมกันสะท้อนผล และปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ถ้าผล
การทดลองเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ก็เผยแพร่หรือปรับปรุงให้ยิ่งขึ้น ผลไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ก็ปรับปรุงทดลองใหม่ สิ่งสำเร็จ คือ นวัตกรรม ที่สำคัญ คือ การทำงานตั้งแต่ขั้นแรกถึงขั้นสุดท้าย ต้องมีการบันทึก (Logbook) ออกแบบเอง ง่าย สั้นหนึ่งหน้าก็พอ อาจนำเสนอทาง Line หรือ Facebook หรือรูปแบบอื่นๆ (สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน , 2560)
ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวอาจมีความการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของโรงเรียนหรือกลุ่มในการจัดทำชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือการที่สมาชิกทุกคน ได้นำปัญหามาเสนอ เพื่อให้เพื่อร่วมสมาชิกได้ร่วมเสนอวิธีแก้ไขที่หลากหลาย และนำแนวทางที่เพื่อนสมาชิกเสนอไปแก้ไขพัฒนางาน แล้วนำกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกครั้ง เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ให้กับสมาชิกทุกคน
การก้าวผ่านความยึดติดแห่งตน
ความสำเร็จของการดำเนินการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ นอกจากการที่ทุกคนให้ความร่วมมือในการประชุม ให้คำแนะนำกับเพื่อนสมาชิกแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น คือการที่สมาชิกทุกคนยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น และน้อมนำวิธีการที่เพื่อนสมาชิกเสนอแนะ แล้วนำไปปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนางาน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการทำใจยอมรับความเห็นของเพื่อนสมาชิกที่วิจารณ์และเสนอแนะแนวทางการพัฒนา การลดทิฐิแห่งตน (พระไพศาล วิสาโล , ๒๕๕๔) การยอมรับว่าเพื่อนสมาชิกทุกคนมีความเป็นมืออาชีพ และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน
บทสรุป
กระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่เปลี่ยนไปบ่งชี้ว่าทั้งบรรดาครูผู้สอนทั้งหลายและสาธารณชน จำเป็นต้องร่วมกันกำหนดบทบาทใหม่ที่เหมาะสมของครู โดยต้องทบทวนการที่ต้องให้ครูใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันอยู่หน้าชั้นเรียน และอยู่กับนักเรียนตลอดเวลานั้น ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องการใช้เวลาของครูผู้สอนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏผลออกมาชัดเจนว่าในหลายประเทศ เช่น ในญี่ปุ่น พบว่า ครูมีชั่วโมงสอนน้อยลง และมีโอกาสได้ใช้เวลาที่เหลือส่วนใหญ่ไปกับการจัดทำแผนเตรียมการสอน การประชุมปรึกษาหารือกับเพื่อนร่วมงาน การให้คำปรึกษาและทำงานกับนักเรียนเป็นรายบุคคล การแวะเยี่ยมชั้นเรียนอื่นเพื่อสังเกตการเรียนการสอน และการได้ใช้เวลาไปเพื่อกิจกรรมต่างๆ ด้านการพัฒนาวิชาชีพของครูมากขึ้น (Darling Hammond, 1994, 1996) เป็นต้น การที่จะให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องสร้างความตระหนัก และให้มุมมองใหม่ต่อสาธารณชนและวงการวิชาชีพครู ที่ต้องเน้นและเห็นคุณค่าของความจำเป็นต้องพัฒนาครูให้มีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น ถ้าหากต้องการคุณภาพการศึกษาของนักเรียน ดังที่มีผู้กล่าวว่า ครูต้องเป็นบุคคลแรกที่ต้องเป็นนักเรียน (teachers are the first learners) โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนการเรียนรู้แห่งวิชาชีพ ซึ่งสมาชิกทุกคนมีอิสระทางความคิดและการแสดงความคิดเห็น นับว่าเป็นเวทีแห่งสังคมอุดมปัญญาที่สร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติงาน มีประสิทธิผลมากขึ้น และช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนสูงตามไปด้วย
รายการอ้างอิง
พระไพศาล วิสาโล. 2554. ทุกข์เพราะยึดติด วารสารธรรมมาตา. มกราคม เมษายน(1): 4-5
เรวดี ชัยเชาวรัตน์. 2558. วิถีสร้างครูสู่ศิษย์ : ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ : เอกสาร ประมวลแนวคิดและ
แนวทางพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบกลไกและแนวทางการหนุน
เสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานส่งเสริมสังคม
แห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน.
สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2560. การขับเคลื่อนกระบวนการ PLC (Professional
Learning Community) ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ สู่สถานศึกษา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
Darling Hammond, L. 1994. The current status of teaching and teacher development in the
United States. New York: Teacher College, Columbia University.
Hord, Roussin & Sommers. 2009. Professional learning communities : Communities of inquiry and
improvement. Austin : Southwest Educational Development Laboratory.(Online).journal.
oas.psu.ac.th/index.php/asj/article/viewFile/125/688, 7 November 2017.