ชื่อเรื่อง การพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โรงเรียนบ้านอาจสามารถ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 :
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางปุณยวีร์ จิตศรัทธา
โรงเรียน บ้านอาจสามารถ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) โรงเรียน บ้านอาจสามารถ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 : การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โรงเรียนบ้านอาจสามารถ และ เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โรงเรียนบ้านอาจสามารถ การดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของผู้วิจัย และคณะครูโรงเรียนบ้านอาจสามารถ จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินความพึงพอใจ และการบันทึกเอกสาร ผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม พบว่า
1. ผลการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โรงเรียนบ้านอาจสามารถ จำนวน 2 วงรอบ 8 ขั้นตอน ปัจจัยองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ 17 ตัวบ่งชี้เป้าหมายเชิงประจักษ์ จากการดำเนินการในวงรอบที่ 1 ตามแผนงานโครงการหลัก (Master Projects Plan) จำนวน 3 โครงการ คือ 1) โครงการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) โดยครูสอนให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติผ่านกระบวนการคิด ทุกระดับชั้นเรียน ทั้งระบบของสถานศึกษา จากเป้าหมายเชิงประจักษ์ 3 ข้อ ซึ่งมาจากองค์ประกอบที่ 4 สถานศึกษาสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายเชิงประจักษ์ได้ 2 ข้อ ยังมีเป้าหมายเชิงประจักษ์ ยังทำไม่สำเร็จอีก 1 ข้อ คือ กลุ่มครูมีภาวะผู้นำที่เป็นผู้สร้างให้เกิดการนำ และภาวะผู้นำชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู 2) โครงการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) มีลักษณะเป้าหมายเชิงประจักษ์รวมทั้งสิ้น จำนวน 10 ข้อ ซึ่งมาจากองค์ประกอบที่ 1,2 และ 5 สถานศึกษาสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายเชิงประจักษ์ได้ 9 ข้อ ยังมีเป้าหมายเชิงประจักษ์ ยังทำไม่สำเร็จอีก 1 ข้อ คือ ครูทุกคนคือผู้เรียนซึ่งเรียนรู้ มีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน 3) โครงการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มีลักษณะเป้าหมายเชิงประจักษ์รวมทั้งสิ้น จำนวน 4 ข้อ ซึ่งมาจากองค์ประกอบที่ 3 สถานศึกษาสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมาย เชิงประจักษ์ได้ครบทุกข้อ จึงได้ดำเนินการวิจัยตามกระบวนการวงรอบที่ 2 ต่อ โดยดำเนินการยกระดับความสำเร็จของเป้าหมายเชิงประจักษ์ที่ประสบผลสำเร็จแล้วให้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนตัวบ่งชี้เป้าหมายเชิงประจักษ์ ยังดำเนินการไม่สำเร็จ นำกลับมาเข้าสู่ขั้นตอน PAOR ในรอบที่ 2 เพื่อดำเนินการให้ประสบกับความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายครบทุกเป้าหมายเชิงประจักษ์
2. ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โรงเรียน บ้านอาจสามารถ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ประเด็น ดังนี้
1) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับบุคคล พบว่า ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนบ้านอาจาสามารถ มีพฤติกรรมการปฏิบัติงานเปลี่ยนแปลงไป มีความรัก ผูกพัน ห่วงใยสถานศึกษา ถือว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษาที่จะต้องร่วมมือร่วมพลัง ในการขับเคลื่อนพัฒนาสถานศึกษา ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ เป็นที่พึงพอใจของผู้มารับบริการทางการศึกษา
2) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับกลุ่มบุคคล พบว่า คณะครูของโรงเรียนบ้านอาจสามารถ มีความรัก ความสามัคคีรวมพลัง ช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มีการทำงานเป็นทีม (Teamwork) กลุ่มครู มีการประสานสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม การพัฒนาต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย
3) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับโรงเรียนหรือสถานศึกษา พบว่า โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น เช่น มีชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่เข้มแข็ง (PLC) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในการทดสอบระดับชาติเพิ่มสูงขึ้น โรงเรียนมีการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาเป็นแบบอย่างที่ดี ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนสอดคล้องกับหลักสูตร มาตรฐานตัวชี้วัด เพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นคนไทยที่มีศักยภาพมีความพร้อมอย่างรอบด้านในศตวรรษที่ 21 (21st Century) และเป็นคนไทยที่เปี่ยมด้วยคุณภาพยุคการศึกษา Thailand 4.0