บทคัดย่อ
ภาวะผู้นำในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคสมัยที่ต้องมีความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในทุกด้าน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้ยุคที่เรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่สถานะใดทางสังคมทุกคนล้วนต้องเตรียมพร้อมและสร้างภาวะผู้นำในตัวเองที่พร้อมจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาคุณลักษณะภาวะผู้นำที่ควรมีในศตวรรษที่ 21 คือการมีภาวะผู้นำเชิงบูรณาการที่ต้องมีการบูรณาการหลายๆด้านตามความเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วยด้านความเชื่อมั่น ด้านทักษะในการฟัง ด้านการตัดสินใจ ด้านฝึกการยอมรับในจุดอ่อน ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการเรียนรู้ตลอดเวลา ด้านการมอบหมายงาน พัฒนาคน ด้านทัศนคติ และด้านการมองการณ์ไกล หากผู้นำหรือบุคคลมีองค์ประกอบครบถ้วนดั่งข้างต้นก็สามารถพัฒนาองค์กรหรือพัฒนาตนเองให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเท่าทัน
คำสำคัญ : ภาวะผู้นำ เรียนรู้ เปลี่ยนแปลง
บทนำ
ในสังคมโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมที่อุดมไปด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการก้าวทันแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรมี ซึ่งในศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษที่เป็นความท้าทายในหลายด้านๆ ทั้งทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อิทธิพลของ AI ที่มีบทบาทในสังคมมนุษย์ มีบทบาทในทุกๆส่วนและสามารถทำทุกๆอย่างแทนที่มนุษย์ได้ เมื่อศตวรรษที่ 21 การเป็นผู้นำแบบดังเดิมในอดีตที่เคยเป็นก็ไม่สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้เท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการพัฒนาภาวะผู้นำให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านมุมมอง ทัศนคติ บุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ในการมีส่วนร่วมในองค์กร ตลอดจนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ทั้งทางด้านทักษะภาษาต่างประเทศ ตลอดจนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เครื่องจักรและหุ่นยนต์ ที่จะถูกนำเข้ามาใช้งานทดแทนแรงงานคน การพัฒนาให้มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง ความพร้อมในการที่จะหลุดออกกรอบดั้งเดิมที่เคยอยู่ และความพร้อมที่จะกล้าสร้างตัวเองในแบบใหม่ตามความเปลี่ยนแปลงของโลก
ทรูโด นายกรัฐมนตรีประเทศเคนาดาได้กล่าวปราศรัยในพิธีมอบปริญญาบัตรให้กับบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก New York University ทรูโด ได้แสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นที่สื่อถึงหลักสำคัญที่เขามุ่งมั่นจะยึดถือตลอดการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงว่า โลกกำลังต้องการผู้นำที่สามารถก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดของเชื้อชาติ และทุกความแตกต่าง แล้วสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชักนำให้ทุกคนในโลกร่วมมือกันสร้างสิ่งดีๆให้กับโลกใบนี้ การเป็นผู้นำประเทศสิ่งที่เขาต้องมีเขาจะเป็นผู้นำประเทศที่คิดบวก เพราะเขาเชื่อว่าถ้าทำได้ ตัวเขาจะมีบทบาทในการสร้างโลกในอุดมคติ โลกที่น่าอยู่ ซึ่งความคิดดีนี้จะเผื่อแผ่ไปสู่ประชาคมโลกได้ไม่ยาก (This is what Justin Trudeau thinks makes a good leader.2020: online)
ท่าทีการเปลี่ยนแปลงผู้นำของหลากหลายประเทศย่อมเป็นสิ่งสะท้อนการเป็นผู้นำในแบบเก่านั้นได้เป็นสิ่งล้าหลังไปแล้ว โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกแห่งความเปลี่ยนมากมาย เพราะฉะนั้นภาวะนำในตัวบุคคล ในทุกระดับ ทุกองค์กร จึงมีความสำคัญที่ต้องเปลี่ยนเพื่อให้ก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอถึงความหมาย ทฤษฎีภาวะผู้นำ และลักษณะภาวะผู้นำยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจถึงภาวะผู้นำในศตวรรษที่ 21 มากยิ่งขึ้น
ความหมายของภาวะผู้นำ
นักวิชาการได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำไว้หลากหลายแนวคิดดังนี้
ประสาน หอมพูลและทิพวรรณ หอมพูล (2540 ; 83) ได้ให้ความหมายภาวะผู้นำ หมายถึง กระบวนการที่ผู้นำใช้อิทธิพลหรืออำนาจที่ตนมีอยู่ในการซักนำหรือโน้มน้าวให้ผู้ใต้บังคับบัญชาภายในองค์การหรือในกลุ่มคนในสถานต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ
สมยศ นาวีการ (2538 : 400) ได้ให้ความหมายภาวะผู้นำภาวะผู้นำ หมายถึง กระบวนการของการสั่งการและใช้อิทธิพลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มสมาชิกภายในองค์การ
สรุปภาวะผู้นำ หมายถึงกระบวนการหรือพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลที่จะชักนำ จูงใจ หรือโน้มน้าวบุคคลในองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกันและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ทฤษฎีภาวะผู้นำ
กิตติ์กาญจน์ ปฏิพันธ์ (2556:27-29) ได้อธิบายถึงทฤษฏีภาวะผู้นำความสำเร็จขององค์กรล้วนเกิดจากผู้นำที่มีภาวะผู้นำ การศึกษาเรื่องภาวะผู้นำได้จำแนกเป็น 4 ทฤษฏีคือ ภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะ พฤติกรรม สถานการณ์ และการบูรณาการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะ (Traits Theory)
การศึกษาภาวะผู้นำยุคแรก ๆ จะมองด้านคุณลักษณะเป็นสำคัญ ซึ่งมีความ หลากหลายมิติ และกว้างขวางมากถึงขนาดมีการศึกษาคุณลักษณะผู้นำที่พึงประสงค์ใน องค์กรต่าง ๆ และมีความเชื่อว่าผู้นำที่มีคุณลักษณะดีจะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำที่ ดีเพราะมีคุณลักษณะที่พิเศษคือ มีความสามารถในการนำ มีความกล้าหาญ มีวิสัยทัศน์ และเชื่อว่าภาวะผู้นำมีมาตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถสร้างได้ สามารถสรุปทฤษฏี ภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะ ดังต่อไปนี้
1) มีความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน
2) มีความน่าเชื่อถือและไว้ใจได้
3) มีความซื่อสัตย์ สุจริต
4) มีความยุติธรรม
5) มีความสามารถในการตัดสินใจ
6) มีวินัยในตนเองและผู้อื่น
7) มีความรับผิดชอบ
8) ชอบนำคนอื่น
9) มีความยืดหยุ่น
2. ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม (Behavior Theory)
การที่ผู้นำมีคุณลักษณะที่ดีมิได้รับประกันความสำเร็จในการบริหารองค์กรเสมอ ไป การศึกษาภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรมเป็นการพัฒนาขึ้นอีกขั้น ด้วยการมองว่าผู้นำที่ดี นอกจากมีคุณลักษณะที่ดีแล้วจะต้องมีพฤติกรรมที่ดีด้วย จะมองในด้านผู้นำที่มุ่งคน มุ่งงาน และมีความเชื่อว่าผู้นำสามารถสร้างได้อย่างมีคุณภาพ โดยสรุปภาวะผู้นำ เชิงพฤติกรรมมีดังนี้
1) ภาวะผู้นำที่เอาใจใส่ทั้งคนและงานอย่างสมดุล
2) ภาวะผู้นำที่เดินสายกลาง มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และมีความยืดหยุ่น
3. ทฤษฎีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ (Situation Theory)
จากทฤษฏีเชิงคุณลักษณะและทฤษฏีเชิงพฤติกรรมการแสดงออกที่ดีเลิศ ไม่ สามารถตอบโจทย์แห่งความสำเร็จขององค์กรได้ จึงมีการศึกษาภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ ขึ้นอีกขั้นหนึ่งและศึกษาในเชิงของสติปัญญา วุฒิภาวะทางอารมณ์ของบุคคลเพื่อตอบสนองการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง มีการศึกษาภาวะผู้นำตามสถานการณ์ว่าขึ้นกับ วุฒิภาวะของผู้ตามทั้งในเชิงความรู้ ความสามารถ สติปัญญา และมีความเชื่อกันว่าหาก ผู้ตามมีวุฒิภาวะ มีศักยภาพ ผู้นำก็จะไม่มุ่งคนหรือมุ่งงานมากนัก แต่จะเป็นส่วนหนึ่งใน การเรียนรู้หรือการเป็นทีมงานที่ก้าวเดินไปพร้อม ๆ กันด้วยข้อจำกัดที่ว่า
1) ผู้นำที่มีคุณลักษณะที่ดีไม่ได้รับประกันความสำเร็จในการบริหารงานเสมอไป
2) ผู้นำที่มีพฤติกรรมที่ดีเยี่ยม ทำงานหนัก อาจจะไม่ทันกับโลกสมัยใหม่
3) สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จึงต้องอาศัยภาวะผู้นำตามสถานการณ์ ผู้นำที่มีภาวะผู้นำเป็นจุดแข็งในตอนแรกแต่กลับเป็นจุดอ่อนในตอนหลัง ในขณะที่ ลักษณะและพฤติกรรมของบางคนที่เคยเป็นจุดอ่อนแต่กลับกลายเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์
4. ทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงบูรณาการ (Integrate Theory)
ในโลกและภาวะการณ์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนบุคลิกลักษณะพฤติกรรมและสถานการณ์ยังไม่เพียงพอสำหรับการศึกษาด้านภาวะผู้นำเพราะสังคมโลกมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนจึงมีการหลอมรวมทฤษฏีด้านคุณลักษณะพฤติกรรมและสถานการณ์เป็นทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงบูรณาการเพื่อให้สอดคล้องกับยุคแห่งการแข่งขัน และยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกทั้งยังมีภาวะผู้นำอีกจำนวนมากที่ควรศึกษาทั้งในเชิง แนวความคิด ทฤษฏี บทความและงานวิจัยต่อไป
สรุปจากทฤษฎีภาวะผู้นำที่มีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผู้นำเป็นไปตามสถานการณ์และความเหมาะสมของการทำงานภายในองค์กรและลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปตามทฤษฎีใดก็ตามก็ไม่มีผู้นำหรือภาวะผู้แบบไหนที่ดีหรือไม่ดีที่สุดเพียงแต่ว่าการเลือกปรับตัว ยืดหยุ่นหรือการสร้างลักษณะพฤติกรรมรวมถึงบุคลิกภาพที่เหมาะสมต่อการทำงาน ก็สามารถพัฒนาองค์ให้เป็นไปตามรูปแบบที่ต้องการได้
สรุปลักษณะพึงประสงค์ภาวะผู้นำยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21
จากการศึกษาทฤษฎีภาวะผู้นำ ทั้ง 4 ทฤษฎีแล้วการพัฒนาผู้นำให้สอดรับกับสถานการณ์ในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปผู้เขียนเล็งเห็นว่าภาวะผู้นำควรดังนี้
ด้านความเชื่อมั่น ต้องมีความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้ายังไม่เชื่อมั่นในตัวเองแล้ว การที่ใครมาศรัทธาและไว้วางใจในตัวเราก็คงเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเชื่อแต่ตัวเองเท่านั้น สิ่งที่ดีคือต้องรู้จักรับฟังผู้อื่นด้วย
ด้านทักษะในการฟัง จะต้องเป็นผู้ที่รับฟังอย่างตั้งใจ และมีศิลปะในการฟัง ดังมีผู้กล่าวว่าการฟังคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เมื่อพูดจะรู้เท่าที่พูด แต่เมื่อฟังจะรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจคน เพื่อรับฟังปัญหา ตลอดจนความคิดเห็นต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาในการแก้ปัญหา ปรับปรุงการทำงานให้สัมฤทธิ์ผลตามจุดมุ่งหมาย
ด้านการตัดสินใจ ต้องกล้าตัดสินใจ ทั้งนี้ก่อนที่ตัดสินใจนั้นในเรื่องใดๆ ลงไปนั้น ต้องมีกรอบความคิด และการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ เรียนรู้ที่จะหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี หากยังไม่มั่นใจ ควรมีที่ปรึกษาไว้ช่วยในการตัดสินใจด้วย
ด้านฝึกการยอมรับในจุดอ่อน การกระทำที่ผิดพลาดอย่างหนึ่งของคนเรา คือ การพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ยอมพึ่งพาผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ยอมรับในจุดอ่อนของตน และพยายามสร้างสมมติฐานเอาเอง เมื่อนั้นโอกาสที่เราจะตัดสินใจผิดพลาดมารออยู่ตรงหน้าแล้ว พึงเข้าใจว่า คนเราไม่ใช่ยอดมนุษย์ จึงไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกเรื่อง สิ่งที่ควรทำคือ ยอมรับในจุดอ่อนของตน และหาคนที่ไว้ใจได้มาเป็นที่ปรึกษา การขอความช่วยเหลือไม่ได้ทำให้ศักดิ์ศรีของคุณหมดไป ดังนั้นจงอย่าอายที่จะถาม
ด้านการมีส่วนร่วม ต้องไม่ยึดติดกับตำแหน่งและอำนาจ คนที่จะมัดใจลูกน้องได้คือคนที่เข้าหาพวกเขา ร่วมเผชิญปัญหา และฝ่าฟันไปพร้อมๆ กับพวกเขา ให้คำแนะนำพวกเขาในสิ่งที่เราเคยผ่านมา รวมทั้งยินดีในความสำเร็จร่วมกับพวกเขา
ด้านการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลายิ่งในสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสาร การรับรู้ข้อมูลที่อยู่รอบตัว การเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง
ด้านการมอบหมายงาน พัฒนาคน เพราะคนทุกคนมีความสามารถแตกต่างกันการมอบหมายงานที่สอดคล้องกับความสามารถของแต่ละคน และมีความยุติธรรมกับทุกคน สามารถแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานได้ เพื่อให้งานได้บรรลุตามต้องการและเป้าประสงค์ขององค์กร
ด้านทัศนคติ ทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมี การมีทัศนคติที่การมองโลกทั้งแง่ดีหรือไม่ดีย่อมส่งผลต่อความสำเร็จของงาน และความสัมพันธ์ของคนในองค์กร
ด้านการมองการณ์ไกล การมีเป้าหมายและแผนที่ชัดเจน การเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการประเมินแต่ระยะและปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
สรุปภาวะผู้นำในศตวรรษที่ 21 ต้องมองพฤติกรรมและการปรับตัวที่สอดคล้องพร้อมยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยุคสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงสังคมเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง ซึ่งภาวะผู้นำและพัฒนาภาวะผู้นำในสังคมปัจจุบันได้มีการกำหนดวิธีการมากมาย ทั้งในการพัฒนาในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรหรือการสร้างภาวะผู้นำในตนเองซึ่งคนทุกคนสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ที่มีภาวะความเป็นผู้นำได้ ซึ่งมีมันมีอยู่ภายในตัวทุกคน หากมีการเรียนรู้ ฝึกหัด และอบรมอย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่ยากที่จะกระตุ้นภาวะผู้นำในตัวบุคคลออกมาได้ การยอมรับ การพัฒนาตัวเองให้สม่ำเสมอพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆภายใต้โลกโลกาภิวัตน์ และนำพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่และอยู่ภายใต้บรรยากาศของคนที่มีภาวะผู้นำ ตัวเราก็สามารถพัฒนาตามที่เราต้องการได้ และพัฒนาตนเองหรือองค์กรประสบความสำเร็จสู่เป้าหมายดั่งที่หวังไว้ได้