ชื่อเรื่อง โครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ "น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน" เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
ของนักเรียนโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2565
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1
ผู้รายงาน นายนิพนธ์ ศรีเอี่ยม
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ "น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน" เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ของนักเรียนโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2565 สังกัดสำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) ประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ปัจจัยเบื้องต้น (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Product)
2) ประเมินผลการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ 3) ประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดโครงการ ในการประเมินครั้งนี้ผู้ประเมินได้กำหนดกลุ่มประชากร ได้แก่ ครูนักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนศรีอยุธยา
ในพระอุปถัมภ์ฯ ปีการศึกษา 2565 โดยกำหนดขนาดประชากรของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie; & Morgan) 1. ประชากรครู 142 คน กลุ่มตัวอย่าง 108 คน 2. มีประชากรนักเรียน 2,897 คน
กลุ่มตัวอย่าง 341 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) นำมาเทียบสัดส่วนร้อยละกับจำนวนนักเรียนแต่ละระดับชั้นและระดับห้องเรียน และ 3. ประชากรผู้ปกครองนักเรียนได้มาจากผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับเลือกให้เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 341 คน
รวม ครู นักเรียนและผู้ปกครองที่สุ่มได้เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 790 คน จากประชากร จำนวน 6,072 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ 1. แบบสอบถามความคิดเห็น โดยแบ่งเนื้อหา 3 ชุด คือ ชุดที่ 1 สำหรับครู ชุดที่ 2 สำหรับนักเรียนและชุดที่ 3 สำหรับผู้ปกครอง แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบเป็นแบบปลายปิด ชนิดเลือกตอบ (Multiple Choices) ตอนที่ 2 แบบสอบถามด้านสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้นกระบวนการและผลผลิต สภาวะแวดล้อมด้านปัจจัยเบื้องต้นเป็นแบบประเมินแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ตอนที่ 3 ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ผลการประเมินโครงการพบว่า 1) ผลการประเมินโครงการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ผลการดำเนินการด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) โดยรวมอยู่ในระดับมาก 2) ผลการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
3) ผลการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังสิ้นสุด โดยดำเนินการ 3 กิจกรรม พบว่า กิจกรรมที่ 1. ปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียน พบว่ามีภูมิทัศน์ สวยงาม สะอาด ปลอดภัย กิจกรรมที่ 2. ห้องน้ำอาคาร 1 มีความสะอาดถูกสุขลักษณะและเพียงพอต่อการใช้งานและ กิจกรรมที่ 3. อาคารเรียนและอาคารประกอบ พร้อมใช้งานและปลอดภัย วัสดุอุปกรณ์ ประจำห้องเรียนเพียงพอ รวมถึงรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้นักเรียนและบุคลากรใส่ใจในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนได้รับป้ายโรงเรียนสีเขียวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต