1. ความสำคัญของผลงาน นวัตกรรมหรือวิธีปฏิบัติที่นำเสนอ
1.1 ความเป็นมาและสภาพของปัญหา
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 2579 กำหนดทิศทางให้คนไทยเป็นพลเมืองดีมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้สังคมไทยต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลงโดยการขับเคลื่อนภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ ต่อไปนี้ 1) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตรการเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล 2) การยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา 3) การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรม รองรับความต้องการของตลาดงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 4) การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล 5) การพัฒนาคุณภาพของคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 6) การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน 7) การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษา จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ดังนั้นในการบริหารจัดการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษา จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรที่ใช้ วัสดุอุปกรณ์การสอนและวิธีการสอนของครู เพราะครูจำเป็นต้องเป็นผู้มีองค์ความรู้ ซึ่งได้จากการศึกษาและพัฒนาตนเอง โดยผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือกันเพื่อการเรียนรู้ของทุกคน ซึ่งประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการขับเคลื่อน PLC ในสถานศึกษา พบว่า เกิดผลดีต่อทั้งครูผู้สอนและนักเรียน สำหรับผลดีต่อครูผู้สอน พบว่า PLC กล่าวคือ ลดความรู้สึกโดดเดี่ยวงานสอนของครูเพิ่มความรู้สึกผูกพันต่อพันธกิจและเป้าหมายของโรงเรียนมากขึ้น เกิดความรู้สึกว่าต้องการร่วมกันเรียนรู้และรับผิดชอบต่อพัฒนาการโดยรวมของนักเรียน ถือเป็น พลังการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนให้มีผลดียิ่งขึ้น ผลดีต่อผู้เรียน พบว่า PLC สามารถลดอัตราการตกซ้ำชั้นและจำนวนชั้นเรียนที่ต้องเลื่อนหรือชะลอการจัดการเรียนรู้ให้น้อยลง อัตราการขาดเรียนลดลง มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชารายวิชาต่าง ๆ และด้านการอ่านที่สูงขึ้นอย่างเด่นชัด (สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2563 : 23 - 24)
ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้นำกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง และมีพัฒนาการให้เกิดทักษะวิชาการ และทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การจัดการเรียนรู้เชิงรุกเป็นวิธีการสอนรูปแบบหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจและการนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวต่อการเรียนรู้และสร้างความกระตือรือร้นด้านการรู้คิดมากกว่าวิธีการสอน โดยการท่องจำเพียงอย่างเดียว การเรียนการสอนเชิงรุกจึงมีบทบาทช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนสูงขึ้น ผู้เรียนจะเกิดความพึงพอใจในรูปแบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการกิจกรรมการเรียนการสอนได้ลงมือกระทำ (active learning) มากกว่าการที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้เพียงอย่างเดียว (passive learning) ยังมีกิจกรรมการแสวงหาความรู้ที่ผู้สอนกำหนด อีกทั้งให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่กล่าวว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในมโนทัศน์ที่สอนได้ถูกต้องและลึกซึ้ง เกิดความคงทนถาวร ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ได้เป็นอย่างดี เกิดความสนุกสนานจากกิจกรรมที่จัดขึ้นในการเรียนการสอนและสามารถบูรณาการความรู้ที่ได้ให้เกิดประโยชน์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมหรือแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนเชิงรุก สามารถสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะการเรียนเชิงรุกเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีการสร้างกิจกรรมในชั้นเรียน ดังนั้น จึงจัดได้ว่าการเรียนการสอนเชิงรุกเป็นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทักษะการคิดขั้นสูง การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคต ซึ่งต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนกล้าพูด กล้าตอบ และมีความสุขทุกการเรียนรู้ โดยสิ่งที่ครูผู้สอนควรดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด ครูควรแสวงหารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาจศึกษาจากคู่มือผลงานวิจัยหรือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอนคนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) (ภาคผนวก : หน้า 17)
1.2 แนวคิดหลักสำคัญ
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อการประกอบอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิตโดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553 : 4) โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความสมดุลต้องคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและพหุปัญญา หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สุขศึกษา และพลศึกษา ศิลปศึกษา การงานอาชีพ และภาษาต่างประเทศ โดยในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน นอกจากนั้นมาตรฐานการเรียนรู้ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ เพราะมาตรฐานการเรียนรู้จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร จะสอนอย่างไร และประเมินอย่างไร รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้ระบบการประเมินคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งรวมถึงการทดสอบระดับเขตพื้นที่การศึกษาและการทดสอบระดับชาติ ระบบการตรวจสอบเพื่อประกันคุณภาพดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสะท้อนภาพการจัดการศึกษาว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่มาตรฐานการเรียนรู้กำหนดเพียงใด (กระทรวงศึกษาธิการ, 2553 : 8) นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นโยบาย ของ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่จัดการศึกษา ขั้นพื้น ฐานของประเทศ จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 2565 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา การศึกษาขั้นพื้นฐานวิถีใหม่ วิถีคุณภาพ ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ด้านโอกาส ด้านคุณภาพ และด้านประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการต่อยอดพัฒนาการศึกษา ขั้นพื้นฐาน ให้เป็น วิถีอนาคต วิถี คุณภาพ จึงกำหนดนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ได้ดำเนินการตามนโยบายและจุดเน้น โดยให้โรงเรียนในสังกัดจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
โรงเรียนวัดเกาะลอย (ชุณหะวัตราษฎร์รังสรรค์) จึงได้นำนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 มาใช้ในการปฏิบัติและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสถานศึกษาเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ (Active Learning) มีการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) เพื่อให้เกิดสมรรถนะกับผู้เรียนทุกระดับ ดังนั้น โรงเรียนวัดเกาะลอย (ชุณหะวัตราษฎร์รังสรรค์) จึงได้วิเคราะห์คะแนนผลการวัดและประเมินผลในปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 โดยวิเคราะห์คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ พบว่า คะแนนรวมเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในปีการศึกษา 2563 ต่ำกว่าปีการศึกษา 2562 และค่าเป้าหมายมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษายังไม่เป็นไปตามค่าเป้าหมายที่กำหนด จากที่กล่าวมาข้างต้น โรงเรียนวัดเกาะลอย (ชุณหะวัตราษฎร์รังสรรค์) จึงได้นำผลการประเมิน ดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการวัด และประเมินผลในชั้นเรียน เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน (Assessment for Learning) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างนวัตกรรม เรื่อง การบริหารชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ด้วย 4 Quality Model จะเป็นประโยชน์ต่อวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน สะท้อนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนเห็นความความสำคัญ และคุณค่าในการดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปขยายผลต่อเพื่อเกิดประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษา อีกทั้งยังสามารถนำสารสนเทศจากการประเมินผลไปปรับปรุงด้านการเรียนการสอนให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้เกิดผลตามการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
2. จุดประสงค์และเป้าหมายของนวัตกรรม
2.1 การกำหนดจุดประสงค์และเป้าหมายของนวัตกรรม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อผู้บริหารสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้การบริหารชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ด้วย 4 Quality Model
2. เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. เพื่อให้โรงเรียนมีคุณภาพมาตรฐานตามกรอบกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561
2.1.1 เป้าหมายเชิงปริมาณ
1. ผู้บริหารมีระบบการจัดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้การบริหารชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ด้วย 4 Quality Model
2. นักเรียนร้อยละ 90 มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. โรงเรียนมีคุณภาพมาตรฐานตามกรอบกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ทั้ง 2 ระดับ
2.1.2 เป้าหมายเชิงคุณภาพ
1. ผู้บริหารใช้ระบบการจัดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้การบริหารชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ด้วย 4 Quality Model ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
3. โรงเรียนวัดเกาะลอย (ชุณหะวัตราษฎร์รังสรรค์) เป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานคุณภาพการจัดการศึกษาได้รับการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสี่ ทั้ง 2 ระดับ ได้ระดับคุณภาพดีขึ้นไป