ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
นิทานสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นถือได้ว่าเป็น การเรียนรู้ในด้านเนื้อหาข้อมูลต่างๆ แทนการท่องจำ จากหนังสือตำรา พัณณ์ชิตา สิรภัทรศรีเสมอ (2555: 14) กล่าวไว้ว่านิทานมีอิทธิพลและคุณค่าต่อเด็กปฐมวัยมากการเล่านิทานกับเด็กปฐมวัยมิได้มุ่งให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น การฟังนิทานยังเป็นการพัฒนาทางทางภาษาเพราะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสฝึกทักษะการฟังการพูดในสังคม นิทานช่วยให้เด็กได้แสดงออกสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างเด็กและครู นิทานยังช่วยให้เด็กได้ฝึกคิด พิจารณาเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และวาทินี เจือทอง (2553: 10) มีความคิดเห็น ที่สอดคล้องกันโดยเสริมว่า นิทานเป็นเรื่องเล่า ที่แต่งขึ้นมาด้วยการผูกเรื่องขึ้น โดยอาศัยประวัติของความจริงบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงบางหรืออาจเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาจากจินตนาการหรือ อิงความจริงเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลินสอดแทรกแง่คิดคติสอนใจและแฝงด้วยการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามเพื่อให้ผู้ฟังนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติตน
คุณธรรม จริยธรรมมีความสำคัญต่อสังคมประเทศชาติ เพราะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้มนุษย์ ไม่เบียดเบียนหรือทำลายซึ่งกันและกัน และส่งเสริมให้มนุษย์มีจิตใจที่ดีงาม มีความรักความ สามัคคี ความเมตตา เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็น คุณธรรมจริยธรรม เป็นความดีที่พึงประพฤติ ปฏิบัติ ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม เพื่อก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นในสังคม บุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม จะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม ถ้าสังคมใดมีคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้สังคมนั้นพัฒนาไปได้ อย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามถ้าในสังคมขาดคุณธรรม จริยธรรมจะมีผลต่อการพัฒนาการของ เด็กปฐมวัย
การเล่านิทานเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างคุณธรรม จริยธรรม สำหรับเด็ก เพราะนิทาน เป็นเรื่องของจินตนาการที่ให้ความบันเทิง เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน โลกของเด็ก เป็น โลกสดใสด้วยวัยที่มีจินตนาการ นิทานจะสร้างจริยธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ในทางที่ดีงามและถูกต้อง ทั้งต้อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อสังคม เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ในปัจจุบันจริยธรรมถูกลบออกจากสมองของคนในสังคมไปหมด จึงเกิดปัญหามากมาย เช่น เด็กเล็กถูกทำร้าย ถูกข่มขืน อันตรายเกิดขึ้นได้ไม่เว้นแม่แต่บุคคลในครอบครัว (วารสารวิชาการ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2546)
จากการศึกษาพบว่า การจัดกิจกรรมการสอนของครูผู้สอน มีการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ได้ค่อนข้างน้อย บางกิจกรรมทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย อีกทั้งการดำเนินกิจกรรม ครูผู้สอนใช้คำถามเน้นหนักในเรื่องความจำ คำถามไม่ชัดเจน ทำให้เด็กไม่เข้าใจคำถาม และบางคนไม่สามารถตอบคำถามได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ครูไม่สามารถทราบได้เลยว่า เด็กได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือคิดอย่างไรต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้ การนำนิทานมาใช้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมกับเด็กระดับปฐมวัยจึงมีความเหมาะสม เพราะตรงกับความสนใจของเด็ก ช่วยให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ทำให้เด็กได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรมโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งครูกระตุ้นตามด้วยคำถามปลายเปิด จะยิ่งทำให้ทราบว่า เด็กเรียนรู้อะไร และคิดอย่างไรต่อเรื่องที่ฟังดี จากเหตุผลและสภาพปัญหาที่กล่าวมา จึงทำให้ผู้วิจัย มีความสนใจที่จะศึกษาว่าการใช้นิทานคำคล้องจอง ประกอบกับคำถามปลายเปิดจะสามารถส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้เด็กระดับปฐมวัยหรือไม่ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้จะเป็นแนวทางแก่ครูผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัย ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของเด็กระดับปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของหนังสือนิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยใช้เกณฑ์ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบคุณธรรม จริยธรรม ของนักเรียนชั้นอนุบาล 1/2 ก่อนการจัดประสบการณ์และหลังการจัดประสบการณ์ โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา
ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่
ตัวแปรต้น ได้แก่ การจัดประสบการณ์เล่านิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
ตัวแปรตาม ได้แก่ การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
1. แผนการจัดประสบการณ์การเล่านิทาน จำนวน 21 แผน
2. หนังสือนิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมระดับปฐมวัย จำนวน7 เล่ม
3. แบบทดสอบก่อนจัดประสบการณ์และหลังการจัดประสบการณ์ จำนวน 20 ข้อ
4. คำถามชวนคิด จำนวน 7 ชุด
สรุปผล
การศึกษาค้นคว้า เรื่องการใช้หนังสือนิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษา เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของหนังสือนิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 1 โดยใช้เกณฑ์ 80/80 เพื่อเปรียบเทียบคุณธรรม จริยธรรม ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 1 ได้กำหนดกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 1/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเทศบาล 2 (เฉลิมพระเกียรติ) จำนวน 17 คน เป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการค้นคว้า แผนการจัดประสบการณ์การเล่านิทาน จำนวน 21 แผน หนังสือนิทานคำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 1 จำนวน 7 เล่ม แบบทดสอบก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ จำนวน 20 ข้อ คำถามชวนคิด จำนวน 7 ชุด ผู้รายงานดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล หาค่าสถิติพื้นฐานแสดงค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบการทดสอบก่อนและหลังเรียนโดยใช้ t test