1. ความสำคัญของผลงาน/นวัตกรรมการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
1.1 เหตุผลที่เกิดจากแรงบัลดาลใจความจำเป็นปัญหาหรือความต้องการ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2562) มาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มาตรา 23 การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ, 2563) นั่นคือทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ต้องให้ความสำคัญควบคู่ กันไป
ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต (สำนักงาน ป.ป.ช.) กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อตอบสนองต่อแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 6 (พ.ศ.2566 - 2570) โดยใช้แผนฯ เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำหนดแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อขับเคลื่อนจากนโยบายสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
เนื่องจากปัจจุบันนี้กระแสวัฒนธรรมจากต่างชาติและความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้แทรกซึมเข้าสู่ในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นไทยได้มีการยอมรับ วัฒนธรรมของชาติอื่นและสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ดังกล่าวจนลืมความเป็นไทยทำให้คนในสังคม ขาดคุณธรรมและจริยธรรม มีสภาพจิตใจและพฤติกรรมเสี่ยงไปในทางที่ไม่ดี ก่อให้เกิดปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กติดเกม พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ขาดสัมมาคารวะและความสัมพันธ์ระบบเครือญาติ ลดลง และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาสังคมตามที่ปรากฏในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์และ สื่อต่าง ๆ ซึ่งทุกหน่วยงานทุกองค์กรควรร่วมมือกัน แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
โรงเรียนวัดเกาะลอย(ชุณหะวัตราษฎร์รังสรรค์) เป็นอีกสังคมหนึ่งที่ประสบปัญหา นักเรียนขาดคุณธรรม ความมีวินัย ความพอเพียง ความรับผิดชอบ โรงเรียนจึงได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่ง ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานให้กับคณะองคมนตรี ดำเนินการจัดตั้ง กองทุนการศึกษา ในปีพุทธศักราช2555 และตั้ง โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม เพื่อสร้างคนดี มีน้ำใจให้แก่บ้านเมือง เป้าหมายของโครงการพระราชดำริ มุ่งให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมืองพร้อมทั้งพระราชทานหลัก 3 ประการที่เกี่ยวกับครูและนักเรียนไว้ว่า ...ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู ให้ครูสอนให้เด็ก มีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเองและให้เด็กที่เรียนเก่งช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี...
เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี ผู้จัดทำได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า ช่วยกันสร้างคนดีให้บ้านเมือง มาเป็นวิสัยทัศน์ในแผนดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. พัฒนาศักยภาพครูให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของอาชีพครู สร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียน และเป็นต้นแบบที่ดีงามของนักเรียน
2. พัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนแบบองค์รวม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมที่พัฒนากระบวนการคิดเชิงระบบ และใช้โครงงานคุณธรรม (Moral Project) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ความดีความงามจาก การลงมือปฏิบัติจริง และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ
3. พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม นักเรียน ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในโรงเรียน ส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น เพื่อเป้าหมายการสร้างคนดีสู่สังคม รวมทั้ง การพัฒนาโรงเรียนให้เป็นต้นแบบและเป็นศูนย์เรียนรู้ ของโรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนสุจริต โรงเรียนวิถีพุทธ
4. เพื่อปลูกฝังค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย มีความรับผิดชอบ มีความพอเพียง มีจิตอาสา ให้เป็นวิถีชีวิตในโรงเรียนและชุมชน
ผู้จัดทำได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และให้ความสำคัญในด้านการศึกษา สร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง การศึกษาต้องเน้นคุณธรรม ครูต้องมีศรัทธาที่แรงกล้า เพื่อทำให้เด็กเป็นคนดี คือ สิ่งที่สอนและอบรมผู้เรียน ให้มีองค์ความรู้มีอุปนิสัยติดตัว (Character Education) 5 ด้าน คือ ศีลธรรม จริยธรรม มารยาท วินัย และวัฒนธรรม เพื่อให้คนไทยเป็นผู้มีมารยาท มีวินัย มีความรับผิดชอบในหน้าที่ และเป็นพลเมืองดีของชาติ
ผู้จัดทำจึงได้สร้างนวัตกรรม องค์กรแห่งการเรียนรู้นำสู่โรงเรียนสุจริต โดยยึดหลักที่ว่า คุณธรรมที่เป็นพื้นฐานสำหรับคนดี ได้แก่ 1. ความกตัญญูกตเวที 2. ความเสียสละ 3.ความรับผิดชอบ 4.ความซื่อสัตย์สุจริต 5.ความรัก เพื่อนมนุษย์ มาใช้ในการบริหารโรงเรียน โดยการสร้างกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมและสร้างนักเรียนแกนนำดูแลแต่ละกิจกรรม เพื่อเป็นผู้นำ ในการทำกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมต่าง ๆ
1.2 แนวคิด หลักการ ทฤษฎี รูปแบบ วิธีการ
แนวคิดการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ พระบรมราโชวาท หลักการทรงงาน หลักปรัชญาและหลักทฤษฎี เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นในการพัฒนา คน ให้สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและภูมิสังคมที่มีความแตกต่างกันได้ เมื่อนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการบริหารการศึกษาซึ่งถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญในการพัฒนาคน โดยน้อมนำหลักการองค์ความรู้ 6 มิติ, หลักในการทรงงาน 23 ข้อและยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาประยุกต์ใช้ ในการทำงานและแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ (ปกรณ์กิตต์ ม่วงประสิทธิ์ และคณะ,2563 : บทคัดย่อ) และเป็นแนวทางในการปรับประยุกต์ใช้ในการบริหารคุณภาพการศึกษา
การบริหารสถานศึกษาเป็นกระบวนการจัดการสถานศึกษาที่ผู้บริหารดำเนินกิจกรรมหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่มีความร่วมมือของผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษาประกอบด้วยงานหลัก ๆ 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารงานวิชาการ การบริหารงานบุคคลการ บริหารงบประมาณ และการบริหารงานทั่วไป (สัมมา รธนิธย์,2560 : 137)
หลักการของกิจกรรมระบบการควบคุมคุณภาพ หลักการพื้นฐานประกอบด้วย การพัฒนาคน โดยการที่ผู้บริหารมีส่วนร่วมรับผิดชอบ การยอมรับและเคารพในความเป็นสมาชิกขององค์การการให้โอกาสทุกคนได้แสดงความสามารถของตนเอง และทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน และยินดีร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น การพัฒนางานโดยใช้วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง ประกอบด้วย P.D.C.A. ซึ่งย่อมาจาก การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (DO) การตรวจสอบ (Check) และการแก้ไขปรับปรุง (Action) ใช้เทคนิคการระดมสมองให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้เทคนิคการประชุมร่วม ใช้เทคนิค การทำงานเป็นทีม การพัฒนาทีมงานโดยการรวมกลุ่มที่มีเป้าหมายคุณภาพ เป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในที่เดียวกันพบปัญหาและมีแนวทางสำเร็จร่วมกัน มีความสมัครใจ และร่วมใจทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีระบบการสื่อสารระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ (สัมมา รธนิธย์,2560 : 206)
จากแนวคิด หลักการสำคัญผู้รายงานจึงได้นำนวัตกรรม การบริหารคุณภาพการศึกษา เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานภายในโรงเรียน ทั้ง 4 กลุ่มงานตามแผนปฏิบัติการโรงเรียนที่กำหนดไว้ เป็นการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และการดำเนินกิจกรรมเสริมทักษะ ด้านความรู้คู่คุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะ 5 ประการ ตามหลัก การเสริมสร้าง คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา (โรงเรียนสุจริต) ประกอบด้วย ทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต อยู่อย่างพอเพียง มีจิตสาธารณะ สะท้อนผลการขับเคลื่อนโรงเรียนสุจริตให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผู้เรียนโดยการส่งเสริมศักยภาพให้โรงเรียนมีนวัตกรรมของผู้บริหาร ครูผู้สอน และผลงานของผู้เรียนตามจุดเน้น นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผ่านกระบวนการคิด การจัดกิจกรรม ส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนเป็น โรงเรียนสุจริต โดยสมบูรณ์นั่นเอง
2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของผลงาน/นวัตกรรมการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
2.1 วัตถุประสงค์สอดคล้องกับความสำคัญของผลงาน/นวัตกรรม
2.1.1 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกฝัง ค่านิยม คุณลักษณะ 5 ประการ ตามหลักการเสริมสร้าง คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา (โรงเรียนสุจริต)
2.1.2 เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้มีคุณลักษณะ 5 ประการ ตามหลักการเสริมสร้าง คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา (โรงเรียนสุจริต)
2.2 เป้าหมายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
2.2.1 เป้าหมายเชิงปริมาณ
- ผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน จำนวน 120 คน ปีการศึกษา 2565 ของโรงเรียนวัดเกาะลอย(ชุณหะวัตราษฎร์รังสรรค์)
2.2.2 เป้าหมายเชิงคุณภาพ
- ผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน ของโรงเรียนวัดเกาะลอย(ชุณหะวัตราษฎร์รังสรรค์) มีคุณลักษณะ 5 ประการของโรงเรียนสุจริต ประกอบด้วย ทักษะกระบวนการคิด มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต อยู่อย่างพอเพียง และ มีจิตสาธารณะ