ชื่อผลงาน การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้ KWSEC Model
1. ความสำคัญของผลงาน/นวัตกรรมถอดบทเรียน
1.1 เหตุผลที่เกิดแรงบันดาลใจ ความจำเป็น ปัญหาหรือความต้องการที่จะทำผลงาน/นวัตกรรม
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid 19) ส่งผลให้ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้กระทั่งสถานศึกษาก็ได้รับผลกระทบ ดังเช่น ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษา ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคที่มีภาวะเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย ทางกระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและลดอัตราการแพร่ระบาดของโรค COVID 19 จึงให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กำหนดให้ ใน 28 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครป ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร และระนอง ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564 ถึง วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ในระหว่างที่สถานศึกษาต้องปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษดังกล่าวให้ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนดแนวทางจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ เช่น การสื่อสารแบบทางไกล หรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ สถานศึกษาอาจจัดการเรียนการสอนโดยใบสั่งงานหรือมอบงานตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน
จากประกาศข้างต้น โรงเรียนวัดเกาะวังไทร (กิตติวัฒนาคาร) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ใน 28 จังหวัดตามประกาศ โดยทางโรงเรียนวัดเกาะวังไทร ได้มีการกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ตามความเหมาะสมของบริบทที่สอดคล้องกับสภาพของนักเรียนแบบผสมผสาน ซึ่งประกอบไปด้วยด้วย 3 รูปแบบ คือ
1. รูปแบบการเรียนการสอนแบบ ON HAND การใช้แบบฝึกหัด ใบงาน โดยอาจใช้ร่วมกับรูปแบบอื่น ๆ ตามบริบท
2. รูปแบบการเรียนการสอนแบบ ON DEMAND การจัดการเรียนการสอนแบบทางเดียว ผ่านแอปพลิเคชั่นอื่น เช่น youtube , line , Google Site เป็นต้น
3. รูปแบบการเรียนการสอนแบบ ONLINE การจัดการเรียนการสอนแบบสองทาง ผ่านโปรแกรม ZOOM , Google Classroom เป็นต้น
แต่สำหรับเด็กระดับปฐมวัย ทางโรงเรียนวัดเกาะวังไทร ยึดรูปแบบการสอนแบบ ON HAND และ ON DEMAND เป็นหลัก เนื่องจากเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมกับบริบทของตัวเด็กและสภาพครอบครัวผู้ใกล้ชิดกับตัวเด็ก อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงสื่อได้ตลอดเวลา
1.2 แนวคิด หลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลงานหรือนวัตกรรม สามารถอ้างอิงถึงแนวคิด หลักการทฤษฎี รูปแบบ วิธีการ ฯลฯ ที่นำมาใช้ในการออกแบบผลงานหรือนวัตกรรม
การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับเด็ก สิ่งที่ต้องคำนึงคือ วิธีการเลือกเครื่องมือและแอพพลิเคชั่น เครื่องมือที่นำมาใช้ในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีนั้นต้องช่วยให้เด็กสามารถค้นคว้า สร้างโอกาส และต้องส่งเสริมให้เด็กมีทางเลือกในการสร้างจินตนาการ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง หากให้เด็กใช้โดยปราศจากการควบคุมดูแลของผู้ใหญ่ หรือใช้มากเกินไป หรือใช้ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็กจะกลายเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กด้านต่าง ๆ ได้ การเรียนออนไลน์ในเด็กเล็ก ควรคำนึงถึงเรื่อง เนื้อหา ดังนี้คือ 1) เนื้อหาต้องสนับสนุนพัฒนาการเด็ก การนำเทคโนโลยีมาใช้กับเด็กปฐมวัยนั้นต้องพิจารณาในหลักของความสอดคล้องกับหลักการสนับสนุนพัฒนาการของเด็ก ครูต้องใช้ดุลยพินิจในการนำมาใช้ให้เหมาะสม คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และบริบททางสังคมของเด็กด้วย ควรบรูณาการกับเครื่องมืออื่น ๆ ในลักษณะของการเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และนำมาใช้เป็นสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก 2) เสริมสร้าง Cognitive Skill เนื้อหาจะต้องช่วยพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและทางสังคมควบคู่กันไป เชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมสุขภาพ หรือรูปแบบการใช้ชีวิตของเด็ก 3) วัตถุประสงค์ของครูต้องชัดเจน ครูต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของเนื้อหาและสิ่งที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้อย่างชัดเจน คือให้เป็นเสมือนเครื่องมือที่สนับสนุน การเรียนรู้ คำนึงถึงวัยและเลือกใช้สื่ออื่น ๆ ที่เหมาะสมเป็นตัวช่วยด้วย 4) ครูและผู้ปกครองต้องอยู่ด้วย คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเพียงเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ การให้เด็กเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีครูและผู้ปกครองอยู่ด้วยเพื่อให้คำชี้แนะที่เหมาะสม 5) จุดประสงค์หลักของการผลิตซอฟแวร์สำหรับเด็ก จะไม่เน้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้เฉพาะเนื้อหาอย่างเดียว แต่ต้องสนุกกับการเรียนนั้นด้วย และต้องคำนึงถึงสื่อผสม หมายถึง การใช้สื่อหลาย ๆ แบบประกอบกันมีทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพที่เคลื่อนไหวได้ 6) สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการเรียน การเรียนด้วยคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เฉพาะการนั่งเรียนหน้าจอเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีกิจกรรมเสริมนอกจอด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครูจัดขึ้น 7) ต้องยืดหยุ่น สิ่งสำคัญคืออย่าเล็งผลเลิศ และต้องไม่ให้เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกิดไปหรือถ้าเด็กยังไม่พร้อมที่จะเรียนในช่วงเวลานั้น ก็ต้องยืดหยุ่น ไม่ควรบังคับ แต่ควรใช้วิธีโน้มน้าว สร้างแรงจูงใจ ซึ่งถ้ารูปแบบการเรียนการสอนสนุกสนาน เด็กก็จะไม่เกิดความเบื่อหน่ายและอยากเรียนรู้ด้วย (สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน. 2563)
จากแนวคิดและข้อมูลดังกล่าว ได้นำมาปรับให้เข้ากับบริบทและความเหมาะสมของกิจกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้ KWSEC Model เพื่อให้มีความเหมาะสมกับวัยของเด็กปฐมวัย สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลกับผู้เรียนให้มากที่สุด เป็นที่มาของแนวคิด หลักการการดำเนินงานสู่ความสำเร็จ โดย KWSEC Model ซึ่งการดำเนินงานตาม KWSEC Model ประกอบไปด้วยความหมายดังนี้
K : Knowledge (N.) แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งแนวทางปฏิบัติคือ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย มีความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัย ความรู้ในการตัดต่อคลิปวิดีทัศน์ให้เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
W : Work (N.) แปลว่า การทำงาน ผลผลิตจากการทำงาน การงาน ชิ้นงานที่ทำ แนวปฏิบัติ คือ การนำความรู้เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยที่มีมาผลิตเป็นสื่อวิดีทัศน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
S : Social (Adj.) แปลว่า เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับการเป็นหมู่คณะ ชุมชน แนวทางปฏิบัติคือ เมื่อสร้างผลงานนำผลลงสู่สังคมออนไลน์ กลุ่มไลน์ แอพพลิเคชั่นอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่ ให้เด็กปฐมวัยได้ดูและเรียนรู้จากสื่อวิดีทัศน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
E : Early (Adj.) แปลว่า ก่อน แต่แรก ตอนต้น แนวปฏิบัติคือ เป้าหมายคือผู้เรียนวัยก่อนเรียน การสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ในรูปแบบที่ต่างจากเดิมและมีความเหมาะสม
C : Childhood (N.) แปลว่า วัยเด็ก ความเป็นเด็ก ปฐมวัย วัยตอนต้น แนวปฏิบัติคือ การจัด การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
นอกจากการใช้ KWSEC Model ทางคณะผู้ปฏิบัติงานยังนำวงจรคุณภาพ PDCA วงจรบริหารสี่ขั้นตอนที่ประกอบไปด้วย Plan (การวางแผน) Do (การปฏิบัติ) Check (การตรวจสอบ) และ Action (การดำเนินการ) มาร่วมในการบริหารคุณภาพที่ใช้ในการควบคุมและพัฒนากระบวนการรูปแบบ ของ KWSEC Model โดยทั้งสี่ขั้นตอนเป็นกระบวนการที่สามารถทำซ้ำได้ เพื่อให้ประสบผลสำเร็จมีคุณภาพ ดังนี้
Plan (การวางแผน) หมายถึง การวางแผนการดำเนินงาน กำหนดหัวข้อที่ต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน อาจประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน Plan การจัดอันดับความสำคัญของเป้าหมาย กำหนดการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน กำหนดผู้รับผิดชอบหรือผู้ดำเนินการและกำหนดงบประมาณที่จะใช้ การเขียนแผนการดำเนินงาน ซึ่งแผนดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
Do (การปฏิบัติตามแผน) หมายถึง การดำเนินการตามแผน ควรมีโครงสร้างรองรับการดำเนินการ มีวิธีการดำเนินการและมีผลของการดำเนินการ
Check (การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน) หมายถึง การประเมินแผนการดำเนินการ ประกอบด้วยการประเมินโครงสร้างการดำเนินการ การประเมินขั้นตอนการดำเนินงาน และการประเมินผลของ การดำเนินงานตามแผนที่ได้ตั้งไว้ โดยในการประเมินสามารถทำได้เอง โดยคณะกรรมการการดำเนินงานนั้น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของการประเมินตนเอง
Act (การปรับปรุงแก้ไข) หมายถึง การนำผลการประเมินมาพัฒนาแผน อาจประกอบด้วยการนำผลการประเมินมาวิเคราะห์ว่ามีโครงสร้าง หรือขั้นตอนปฏิบัติงานในใดที่ควรได้รับการปรับปรุง พัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก และสังเคราะห์รูปแบบ การดำเนินการใหม่ที่เหมาะสมกับการดำเนินการต่อไป
ดังนั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลให้การจัดการเรียน การสอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครูผู้สอนจึงดำเนินการออกแบบ การจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบ KWSEC Model เป็นรูปแบบคลิปวิดีทัศน์ ด้วยการจัดการเรียนการสอนของระดับปฐมวัยจะมีข้อจำกัดที่หลากหลายด้วยอายุของผู้เรียนที่มีระยะเวลาความสนใจที่แตกต่างกัน อุปกรณ์ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทำให้ส่วนใหญ่จะเป็นการสอนรูปแบบ ON HAND และ ON DEMAND ผสมผสานกันเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของนักเรียนให้ได้มากที่สุด จึงเป็นการทำคลิปวิดีโอการสอนตามหน่วยอับโหลดทางช่องทาง youtube และนำคลิปการสอนมาสนับสนุนการสอน โดยคลิปจะถูกสร้างขึ้นมาให้มีความเชื่อมโยงกันกับหน่วยการจัดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัย อีกทั้งยังนำคลิปวิดีทัศน์มาเป็นสื่อทางเลือกในการสนับสนุนการสอนเด็ก โดยมีครูเป็นผู้คอยอธิบายเสริมระหว่างเปิดสื่อให้แก่เด็กปฐมวัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการใช้สื่อที่มีความหลากหลายมากขึ้น
2. จุดประสงค์และเป้าหมายของผลงาน/นวัตกรรมถอดบทเรียน
2.1 จุดประสงค์เขียนให้สอดคล้องกับความสำคัญของผลงาน/นวัตกรรม
1. เพื่อให้นักเรียนระดับปฐมวัยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ KWSEC Model
2. เพื่อหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนระดับปฐมวัยโรงเรียนวัดเกาะวังไทร (กิตติวัฒนาคาร)
3. เพื่อให้ครูได้เกิดการพัฒนารูปแบบและกระบวนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม
4. เพื่อเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่ใช้สื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็กได้
2.2 เป้าหมายระบุจำนวนผลงาน/นวัตกรรมหรือกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในผลงาน/นวัตกรรม
เชิงปริมาณ
1. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 โรงเรียนวัดเกาะวังไทร ปีการศึกษา 2565 จำนวน 22 คน
2. คณะครูผู้สอนระดับปฐมวัย โรงเรียนวัดเกาะวังไทร จำนวน 6 คน
3. สร้างความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียนภายในชั้นอนุบาล 2/2 จำนวน 22 คน
เชิงคุณภาพ
1. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 โรงเรียนวัดเกาะวังไทร ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากคลิปวิดีทัศน์ที่จัดทำขึ้น
2. คณะครูผู้สอนระดับปฐมวัย โรงเรียนวัดเกาะวังไทร ได้เกิดการพัฒนารูปแบบและกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบคลิปวิดีทัศน์ ที่มีความสอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
3. สร้างความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียนภายในชั้นอนุบาล 2/2