บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ
การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 2) สร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบ ดังนี้ 3.1) หาประสิทธิภาพของรูปแบบที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3.2) เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3.3) ศึกษาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์โดยเทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 70 และ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาผลการใช้รูปแบบเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนเทศบาลนาเชือก ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบวิเคราะห์เอกสาร 2) แบบสอบถามสภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ ด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 3) คู่มือการใช้รูปแบบ 4) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 6) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 7) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน 8) แบบวิเคราะห์เอกสารการสนทนากลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ สถิติที่ใช้ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที แบบ Dependent Samples t-test และ One Sample t-test
ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัญหาและอุปสรรคด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการ
คิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ด้านครูผู้สอน ขาดรูปแบบการสอนที่เป็นระบบ
ด้านนักเรียน ด้านเครื่องมือ สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ครูผู้สอนทุกคนเห็นด้วย และมีความต้องการด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยต้องการให้นักเรียนลงมือปฏิบัติโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด รองลงมาคือ สามารถกำหนดสมมติฐานได้ และสามารถระบุตัวแปรในการทดลองได้ ตามลำดับ
2. รูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า P-IDEA Model มี 6 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ แนวคิด และทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การค้นหาปัญหา (Problem Finding) ขั้นที่ 2 การค้นหาแนวคิด (Idea Finding) ขั้นที่ 3 การค้นหาคำตอบ (Discovery) ขั้นที่ 4 การสรุปและประเมินผล (Evaluation) และขั้นที่ 5 การประยุกต์ใช้ความรู้ (Apply) 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน ผลการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของร่างรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับ มากที่สุด มีความเป็นไปได้อยู่ในระดับ มาก
3. ประสิทธิภาพของรูปแบบเท่ากับ 83.06/81.90 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80 นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบมีคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบโดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด
ผลการสนทนากลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความเห็นว่ารูปแบบมีความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับหลักสูตร หลักการ แนวคิด และทฤษฎี มีความถูกต้องแม่นยำ เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์ จากนั้นมีการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การตั้งวัตถุประสงค์ ปรับเวลาให้เหมาะสม ปรับความยากง่ายของข้อคำถาม การตั้งคำถาม รวมทั้งการจัดระบบสังคม หลักการตอบสนอง