1. สภาพปัจจุบัน/ปัญหา
1.1 สภาพปัจจุบัน/ปัญหา
ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์ การอยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องใช้ภาษาในการสื่อสารซึ่งกันและกัน เพื่อแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ทัศนคติตลอดจนประสบการณ์ให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างราบรื่น ภาษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องอาศัยทักษะการฟัง การพูดซึ่งเป็นพื้นฐานของการอ่านและการเขียน จากการจัดกิจกรรมในห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ สังเกตพบได้ว่าในการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ กิจกรรมเล่นตามมุม กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา เด็กมีพัฒนาด้านการสื่อสารที่แตกต่างกัน เด็กบางคนไม่กล้าพูด ไม่มีความมั่นใจในการพูด พูดไม่ถูกต้อง พูดไม่คล่อง พูดสื่อความหมายไม่ได้ และคิดแตกต่างจากที่ครูพูดไม่ได้ คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ไม่ได้ เนื่องจากเด็กไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร และไม่มีกระบวนการคิดที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ภาษาสื่อสารกับบุคคลรอบตัวได้ถูกต้อง ครูจึงหาแนวทางในการพัฒนาการใช้ภาษาในการสื่อสารของเด็ก โดยการนำกิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพเพื่อพัฒนาการใช้ภาษาของเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้นต่อไป งานวิจัยหลายเรื่องได้กล่าวถึงการพัฒนาการใช้ภาษาของเด็กปฐมวัยไว้ดังนี้
เด็กปฐมวัยเรียนรู้ภาษา จากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวทั้งสิ่งแวดล้อมที่บ้าน และโรงเรียน เด็กจะเรียนรู้การฟัง และการพูดก่อน เพราะการฟังและการพูดเป็นของคู่กัน เป็นพื้นฐานทางภาษา กล่าวคือ เมื่อฟังแล้วก็ย่อมต้องพูดสนทนาโต้ตอบได้ การเรียนภาษาของเด็กปฐมวัยไม่จำเป็นต้องอาศัยการสอนอย่างเป็นทางการ หรือตามหลักไวยกรณ์ แต่จะเป็นการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือเป็นการสอนแบบธรรมชาติ
ชอมสกี้และแมคนีล (McNeill. 1960 ; อ้างถึงใน หรรษา นิลวิเชียร, 2535 ; 206) เป็นผู้มีความเชื่ออย่างแรงกล้า เกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กว่า เด็กทุกคนเกิดมาโดยมีโครงสร้างทางภาษาศาสตร์อยู่ในตัวหรือติดตัวโดยกำเนิด ซึ่งได้แก่ โครงสร้างทางด้านความหมาย ประโยคและระบบเสียง ตามความเชื่อนี้ เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนระบบของภาษาเด็กเพียงแต่ต้องค้นหาว่าระบบภาษาของตนเองเกี่ยวข้องกับภาษาสากลอย่างไร เด็กไม่ต้องเรียนรู้ว่าเราสามารถตั้งคำถามได้ แต่ต้องเรียนรู้ว่าจะตั้งคำถามอย่างไรหรือเรียนรู้ว่าจะใช้ กลุ่มเสียงใด จะรวมกลุ่มเสียงเข้าด้วยกันอย่างไร โดยสรุปก็คือ เรียนรู้การใช้ภาษาของตนทั้งด้านความหมาย ประโยค และเสียง
เล็นเบิร์ก (Lenneberg) เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดของนักทฤษฎีสภาวะติดตัวโดยกำเนิด เขาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาการทางร่างกาย และขั้นตอนพัฒนาการทางภาษาว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เขากล่าวว่าเด็กเกิดมาด้วยความสามารถทางภาษา มิใช่เป็นผ้าขาว ความสามารถทางการเรียนภาษาของเด็กถูกจัดโปรแกรมไว้ในตัว และมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับอีกด้วย ตราบใดที่เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมทางภาษาพูด เด็กจะพัฒนาการพูดโดยอัตโนมัติ และความสามารถทางภาษาจะแยกเป็นอิสระจากระดับไอคิว
เพียเจท์ (Piaget) เชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาเป็นผลจากความสามารถทางสติปัญญา เด็กเรียนรู้จากการมี
ปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัวของเขา เด็กจะเป็นผู้ปรับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ภาษาของตน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. เด็กมีอิทธิพลต่อวิธีการที่แม่พูดกับเขา จากผลการวิจัยปรากฏว่า แม่จะพูดกับลูกแตกต่างไปจากพูดกับผู้อื่น เพื่อรักษาการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน แม่จะพูดกับเด็กเล็ก ๆ ต่างจากเด็กโตและผู้ใหญ่ จะพูดประโยคที่สั้นกว่าง่ายกว่า เพื่อการสื่อสารที่มีความหมาย
2. เด็กควบคุมสิ่งแวดล้อมทางภาษา เพื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เด็กต้องการค้นพบว่าเสียงที่ได้ยินมีความหมายอย่างไร มีโครงสร้างเพื่อองค์ประกอบพื้นฐานอะไร
3. การใช้สิ่งของหรือบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้าใจพื้นฐานว่า ผู้ใหญ่เห็นหรือได้ยินเขาพูด เด็กอาจเคลื่อนไหวตัวหรือ จับ ขว้าง ปา บีบ ของเล่น เพื่อสร้างความเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐาน และความจำเป็นของความเจริญทางภาษา การเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับผู้อื่น เกี่ยวกับสิ่งของ เกี่ยวกับเหตุและผล เกี่ยวกับสถานที่ มิติ เกี่ยวกับการเกิดขึ้นซ้ำๆ ของกิริยาและสิ่งของ มีส่วนช่วยให้เด็กแสดงออกทางภาษาอย่างมีความหมาย นั่นคือเด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้เพียเจท์ (Piaget) ยืนยันว่า พัฒนาการทางภาษาของเด็กเป็นไปพร้อม ๆ กับความสามารถด้านการให้เหตุผล การตัดสิน และด้านตรรกศาสตร์ เด็กต้องการสิ่งแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้เด็กสร้างกฎ ระบบเสียง ระบบคำ ระบบประโยค และความหมายของภาษา นอกจากนี้เด็กยังต้องการฝึกภาษาด้วยวิธีการหลาย ๆ วิธีและจุดประสงค์หลาย ๆ อย่าง
ดังนั้น การพัฒนาภาษาด้านการฟังและการพูดให้กับเด็กปฐมวัย ควรจัดกิจกรรมที่เด็กให้ความสนใจ และเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ การจัดกิจกรรมการเล่านิทานโดยใช้นิทานประกอบภาพสามารถพัฒนาทักษะการพูดของเด็กปฐมวัยจึงควรส่งเสริมให้ครูผู้สอนระดับปฐมวัยนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถของนักเรียนระดับปฐมวัยให้ดียิ่งขึ้น
1.2 แนวทางการแก้ปัญหา
ใช้กิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพเพื่อพัฒนาภาษาในเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์
1.3 กำหนดจุดประสงค์และเป้าหมาย
1.3.1 วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา ด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัยชั้นปีที่ 2 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์
2. เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจในการพูด กล้าแสดงความคิดเห็น พูดได้ชัดเจนและถูกต้อง
1.3.2 เป้าหมาย
นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์จำนวน 20 คน
2.ขั้นตอนการดำเนินงาน
การดำเนินงาน/กระบวนการ/วิธีการปฏิบัติ
2.1 การดำเนินงาน
2.1.1 ศึกษาหลักสูตร มาตรฐานการศึกษาปฐมวัยและตัวบ่งชี้
2.1.2 ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาภาษา ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
2.1.3 วางแผนการผลิต จัดหาสื่อ โดยกำหนดจุดมุ่งหมายและรูปแบบของสื่อให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก
2.1.4 ดำเนินการจัดกิจกรรม ตามขั้นตอน และนำไปใช้กับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์
2.1.5 สรุปผลการจัดกิจกรรม
2.2 วิธีการปฏิบัติ
2.2.1 จัดบรรยากาศในการปฏิบัติกิจกรรมให้น่าสนใจ
2.2.2 จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สื่อให้เพียงพอต่อจำนวนของเด็กในชั้นเรียน
2.2.3 ให้เด็กเลือกกลุ่มในการปฏิบัติกิจกรรม
2.2.4 ให้ความรู้กับผู้ปกครองเรื่องการพัฒนาภาษาในเด็ก
2.2.5 จัดกิจกรรมต่อเนื่องกระตุ้นการปฏิบัติกิจกรรมอย่างมีความสุข
2.3 แผนการดำเนินงาน/ระยะเวลาในการดำเนินงาน
ดำเนินการจัดกิจกรรมกับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565
3. ผลสำเร็จที่ได้รับ
3.1 เด็กปฐมวัย
3.1.1 เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์ ใช้ภาษาในการสื่อสารได้ดีขึ้น
3. 1.2 เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนวิทยสัมพันธ์มีพัฒนาการทางด้านการฟัง และการพูดดีขึ้น
3.2 พ่อ แม่ ผู้ปกครอง
3.2.1 ผู้ปกรองมีความเข้าใจและช่วยส่งเสริมการใช้ภาษาในเด็กปฐมวัย
3.2.2 ให้ความร่วมมือในการพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง
3.3 อื่นๆ
3.1. ครูได้เรียนรู้และค้นพบร่วมกับเด็ก
3.2 ได้ขยายรูปแบบการพัฒนาขยายความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเด็กอย่างมีคุณค่า
4. ผลสำเร็จที่ได้รับ
4.1ปัจจัยที่ทำให้วิธีการประสบผลสำเร็จ
4.1.1 การทำงานเต็มความสามารถของครู
4.1.2 ผู้บริหารให้การสนับสนุนในด้านการจัดหาสื่อ วัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อจำนวนของเด็กในชั้นเรียน
4.1.3 การให้ความสำคัญกับผู้ปกครองในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง
4.1.4 ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของกิจกรรมและจัดกิจกรรมเสริมอย่างต่อเนื่องที่บ้าน
5. บทเรียนที่ได้รับ
5.1 ครูต้องสร้างความเป็นกันเองกับผู้ปกครอง
5.2 สร้างความเข้าใจให้ชัดเจนในการที่จะให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
5.3 เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเสนอแนะกิจกรรมเพื่อได้กิจกรรมที่หลากหลาย
5.4 ครูต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กตลอดเวลาในการปฏิบัติกิจกรรม
5.5 ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการประเมินผลการพัฒนาเด็ก