ผู้วิจัย นายสถาพร ชัยคินี
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านนาสวรรค์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านนาสวรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ 2) หาแนวทางพัฒนาโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านนาสวรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จำนวน 2 คน ครูผู้สอน จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 101 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า และแบบสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เนื้อหา และแจกแจงความถี่ สรุปผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านนาสวรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ ซึ่งผลการประเมินระดับความเหมาะสมโดยภาพรวมอยู่ระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน ทุกด้านอยู่ในระดับมาก โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าด้านอื่นได้แก่ ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านที่ค่าเฉลี่ยรองลงมา ได้แก่ ด้านผลผลิต ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าด้านอื่น ได้แก่ ด้านกระบวนการดำเนินงาน ผลการประเมินรายด้านทุกด้าน ผ่านเกณฑ์
2. แนวทางพัฒนาการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านนาสวรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ สรุปได้ว่า
2.1 แนวทางพัฒนา ระบบการเบิกจ่ายงบประมาณมีความสะดวกต่อการดำเนินงานโครงการ ได้แก่ ฝ่ายบริหารต้องอำนวยความสะดวก และปรับปรุงการเบิกจ่ายงบประมาณตามอำนาจหน้าที่ของตน และฝ่ายบริหารต้องติดตามการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่อง ถ้าพบปัญหาต้องรีบแก้ไขปรับปรุง และควรให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณมีส่วนร่วมเป็นกรรมการดำเนินงานตามโครงการ
2.2 แนวทางพัฒนา วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงานมีความทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน ได้แก่ ต้องมีสถานที่เก็บวัสดุ อุปกรณ์แยกเฉพาะและจัดหมวดหมู่ให้พร้อมใช้งาน และต้องแต่งตั้งเวรรับผิดชอบดูแลวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงาน โดยหมั่นตรวจเช็ควัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานเสมอ และก่อนการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ต้องมีการสำรวจความต้องการ ความเหมาะสมให้เข้ากับกิจกรรมที่ดำเนินการ
2.3 แนวทางพัฒนา มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ได้แก่ มีแผนการดำเนินโครงการ และสร้างความเข้าใจให้กับผู้รับผิดชอบ และต้องกำหนดเป้าหมายและ วิธีการดำเนินงานให้ชัดเจน และตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานได้ และแต่งตั้งผู้รับผิดชอบกิจกรรมตามความถนัดและความชำนาญ โดยจะต้องมีผู้รับผิดชอบครอบคลุมทุกกิจกรรมที่ดำเนินการ
2.4 แนวทางพัฒนา มีการวางแผนควบคุมการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ได้แก่ แผนการดำเนินงานต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรผู้ร่วมกิจกรรม และฝ่ายบริหารติดตามควบคุมการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และมีการประเมินการดำเนินงาน และนำมาปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น
2.5 แนวทางพัฒนา มีการประเมินผลของโครงการโดยใช้เกณฑ์การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลโครงการโดยใช้เกณฑ์การประเมินโครงการ และจัดทำปฏิทินการประเมินโครงการและการปฏิบัติตามปฏิทินโดยเคร่งครัด และฝ่ายบริหารให้ความสนใจในการติดตามผลการประเมินโครงการ
2.6 แนวทางพัฒนา มีการรายงานผลการปฏิบัติงานของโครงการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ได้แก่ แต่งตั้งคณะกรรมการรายงานผลการปฏิบัติงานของโครงการ และจัดทำแผนการรายงาน ปฏิทินการรายงานอย่างชัดเจน และดำเนินการตามแผน และจัดทำรูปแบบฟอร์มการรายงานโครงการ โดยเกิดจากการประชุมแลกเปลี่ยนของผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีการรายงานผลโครงการประชาสัมพันธ์ อย่างต่อเนื่องผ่านทางเว็บไซต์โรงเรียน และสื่อ social media
2.7 แนวทางพัฒนา มีการนำผลการประเมินมาทบทวนปรับปรุง และพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การประเมินผลต้องได้จากการสะท้อนผลจากจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และการประเมินผลต้องใช้เกณฑ์การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และมีการจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องนำผลการประเมินนำมาปรับปรุงพัฒนาโครงการ และการประเมินผลต้องประเมินปัจจัยให้ครอบคลุมทั้ง 3 ส่วนคือ ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการดำเนินงาน และผลผลิต
2.8 แนวทางพัฒนา มีการจัดทำข้อมูลสารสนเทศผลการดำเนินงานของโครงการ ได้แก่ แต่งตั้งผู้รับผิดชอบเพื่อทำข้อมูลสารสนเทศผลการดำเนินงานโครงการ และกำหนดระยะเวลาการจัดทำข้อมูลสารสนเทศให้ชัดเจน และควรนำข้อมูลสารสนเทศผลการดำเนินงานโครงการมาใช้ปรับปรุงการดำเนินงานโครงการ และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศผลการดำเนินงานของโครงการ เพื่อนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์ผล
2.9 แนวทางพัฒนา ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นำปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนเข้ามาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับนักเรียน เช่น การเลี้ยงกบ เลี้ยงปลาในกระชัง และควรให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมของโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โดยการประชุมร่วมกัน และแบ่งผลผลิตบางส่วนให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง หรือการขยายกิจกรรมไปสู่ชุมชน เช่น การมอบพันธุ์กบให้นักเรียนไปเลี้ยงที่บ้าน และพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นศูนย์การเรียนของชุมชน