ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็นเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน โรงเรียนบ้านโคกยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษานราธิวาส เขต 2
ผู้วิจัย นางสาวรดี นฤมิตสุธน ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน โรงเรียนบ้านโคกยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ผู้วิจัยกำหนดวิธีดำเนินการ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหาร ครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนบ้านโคกยามู ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 15 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 215 คน ของโรงเรียนบ้านโคกยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 ในปีการศึกษา 2564 รวมจำนวน 230 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 15 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 138 คน ของโรงเรียนบ้านโคกยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 ปีการศึกษา 2564 รวม 160 คน ขนาดของกลุ่มตัวอย่างใช้ตารางของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan. 1970 : 608) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบบันทึก การสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลวิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน ของโรงเรียนบ้านโคกยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 พบว่า มีการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีระดับการดำเนินงานมากที่สุด คือ การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา รองลงมาคือ การประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ส่วนแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานประกันคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์ พบว่า โรงเรียนควรมีการระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา มีการแต่งตั้งผู้เกี่ยวข้องติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ และควรมีการแต่งตั้งกรรมการเพื่อทำการรายงานผลการประเมินตนเองตามสถานศึกษากำหนด
2. ผลการพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน ของโรงเรียนบ้านโคกยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 พบว่า รูปแบบ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หลักการของรูปแบบ 4หลักการ คือ หลักการสร้างความตระหนัก หลักการมีส่วนร่วม หลักการตรวจสอบเพื่อคงหรือรักษาสภาพ และหลักการตรวจสอบเพื่อปรับปรุงและพัฒนา การดำเนินงานของรูปแบบ 4 ขั้น คือ ขั้นเตรียมการ (Plan) ขั้นปฏิบัติการ (Do) ขั้นตรวจสอบและประเมินผล (Check) และขั้นแก้ไขปรับปรุง (Act) ปัจจัยสู่ความสำเร็จ 3 ด้าน คือ ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output) และผลการตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่ในระดับมาก
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน ของโรงเรียนบ้านโคกยามู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 พบว่า
3.1 โรงเรียนมีการดำเนินงานตามรูปแบบการประกันคุณภาพในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน อยู่ในระดับการปฏิบัติงานมากที่สุด โดยเฉพาะในด้านการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา
3.2 นักเรียนโรงเรียนบ้านโคกยามู มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา ร้อยละ 47.44 และมีมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในระดับยอดเยี่ยม คิดเป็นร้อยละ 82.06 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายกำหนด
4. ผลการประเมินรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็นเพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน พบว่า
4.1 ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนมีความเห็นว่ารูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนในด้านความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน มีระดับความพึงพอใจต่อการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามแนวคิดของไคเซ็น เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียน โดยรวมในระดับพึงพอใจมาก