ชื่อผลงาน การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้
ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูยุควิถีใหม่ ของโรงเรียนเทศบาล 3
(บ้านนาตาล่วง) โดยใช้ 2P-IDEA MODEL
ชื่อผู้วิจัย ปัญจมน ชุมคช
หน่วยงานที่สังกัด สำนักการศึกษา เทศบาลนครตรัง
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูยุควิถีใหม่ ของโรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านนาตาล่วง) โดยใช้ 2P-IDEA MODEL มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและสภาพความต้องการ 2) สร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการ 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการ และ 4) ประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูยุควิถีใหม่ โดยใช้ 2P-IDEA MODEL กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ ครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านนาตาล่วง) จำนวน 270 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 2) แบบสนทนากลุ่ม 3) แบบประเมินความเหมาะสม ความเป็นประโยชน์และความเป็นไปได้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์และนำเสนอเป็นความเรียง ผลการวิจัยพบว่า
1. การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและสภาพความต้องการ พบว่า การจัดการเรียนรู้ของครูในยุควิถีใหม่ ควรมีการพัฒนาทั้งคน งบประมาณ การบริหารจัดการ วัสดุครุภัณฑ์ เทคโนโลยีและระบบข้อมูลสารสนเทศมาสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้กับครูและบุคลากรเพื่อให้งานต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จและรวดเร็ว โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้นักเรียนเป็นคนเก่ง คนดีและมีความสุขกับการเรียนรู้
2. การสร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วย 1) Plan: P การวางแผนเพื่อกำหนดนโยบายการดำเนินการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร การจัดโครงสร้างองค์กร การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ 2) Process: P การลงมือปฏิบัติ การประสานงาน การนิเทศติดตามที่เน้นความสำเร็จของการจัดการเรียนรู้ 3) Innovation: I การส่งเสริม สนับสนุน งบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ เทคโนโลยีและระบบข้อมูลสารสนเทศ มาช่วยพัฒนาวิธีการสอนและสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ 4) Development: D ร่วมกันค้นหาปัญหา ความต้องการและพัฒนารูปแบบ วิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ได้วิธีการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ 5) Evaluation: E การประเมินผล การร่วมกันตรวจสอบ อภิปราย ระดมสมอง การแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไข ตัดสินใจและมีการสะท้อนผล ประเมินผลเพื่อปรับปรุง แก้ไขจุดด้อย ส่งเสริมจุดเด่นอย่างสม่ำเสมอ และ 6) Achievement: A พัฒนานักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่สูงขึ้น มีความสุขในการเรียนรู้ ครูมีความสำเร็จในผลการปฏิบัติงาน โรงเรียน เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และชุมชนเกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อโรงเรียน
3. การทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการ พบว่า ครูทุกคนมีรูปแบบการสอนและนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในยุควิถีใหม่และนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์สูงกว่าที่สถานศึกษากำหนด
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการมีความเหมาะสม ความเป็นประโยชน์และความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด