การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ ความต้องการจำเป็น พัฒนารูปแบบ ทดลองใช้รูปแบบ รวมทั้งประเมินและปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์และความต้องการจำเป็น กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูผู้สอนภาษาไทย กลุ่มการศึกษาท้องถิ่นที่ 12 จำนวน 214 คน ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการสอนภาษาไทย กลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน ระยะที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 จำนวน 30 คน ระยะที่ 4 การประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test แบบ Dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์และความต้องการจำเป็นในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า สภาพปัจจุบันของการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนสภาพที่พึงประสงค์ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก และความต้องการจำเป็น พบว่า ด้านที่มีความต้องการจำเป็นมากที่สุด คือ ด้านการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน รองลงมาคือ ด้านการสรุปและความน่าสนใจต่อไป และมีความต้องการจำเป็นน้อยที่สุด คือ ด้านการนำเสนอความรู้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า รูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีชื่อว่า แบบเอสเคจีพีเอฟ (SKGPF Model) โดยองค์ประกอบของรูปแบบประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) วิธีการดำเนินงาน ประกอบด้วย 4 หัวข้อ คือ 3.1) ระบบและกลไกของรูปแบบ ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นเรื่องราวและประสบการณ์ ขั้นที่ 2 ขั้นการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน ขั้นที่ 3 ขั้นการนำเสนอความรู้ ขั้นที่ 4 ขั้นประยุกต์การนำเสนอ และ ขั้นที่ 5 ขั้นการสรุปและความน่าสนใจต่อไป 3.2) คำอธิบายประกอบรูปแบบ 3.3) วิธีการดำเนินงานของรูปแบบ 3.4) แนวทางการประเมินรูปแบบ และ 4) เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ โดยผลการตรวจสอบความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน พบว่า รูปแบบมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปรากฏดังนี้
3.1 ผลการศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน พบว่า ประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 88.82/86.78 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3.2 ผลการเปรียบเทียบความสามารถด้านการฟัง การดู และการพูด ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน มีความสามารถด้านการฟัง การดู และการพูด ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.3 ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนจากการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน พบว่า โดยรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินและปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน พบว่า โดยรวมผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นด้วยกับรูปแบบการเรียนรู้ อยู่ในระดับมากที่สุด และได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกและห้องเรียนกลับด้าน เพื่อพัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยการจัดการเรียนรู้นอกชั้นเรียนตามแนวคิดห้องเรียนกลับด้าน ครูควรมีแนวทางการศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่ชัดเจน ส่วนในชั้นเรียน การนำเข้าสู่บทเรียนควรใช้เรื่องราวและประสบการณ์สอดคล้องในชีวิตประจำวัน มีความน่าสนใจ จึงจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ให้เวลานักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างเพียงพอ ในการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์องค์ความรู้จากมวลประสบการณ์ที่ได้รับ สำหรับการอภิปรายกลุ่ม ควรปรับให้กลุ่มมีขนาดเล็กลงให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคระบาดของโรคโควิด-19 นักเรียนควรได้อภิปรายกับเพื่อนนักเรียนที่หลากหลาย ใช้วิธีการหมุนเวียนกลุ่มไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดมุมมองและแง่คิดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และจะทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกับเพื่อนนักเรียนครบทุกคน รวมทั้งนักเรียนควรได้ใช้ทักษะการนำเสนอผลงานของตนเองได้อย่างอิสระและหลากหลายตามความถนัด และความชอบของนักเรียน