ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ชื่อผู้วิจัย นายปริญญา รัตนเพ็ญ
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาของการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ ทั้งนี้เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ เพื่อทดลองใช้การพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ และเพื่อประเมินความพึงพอใจการใช้การพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ แหล่งข้อมูลประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และเด็ก ปีการศึกษา 2564 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามสภาพและปัญหาการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกข้อเสนอแนะประเด็นต่าง ๆ ตามหัวข้อรูปแบบ คู่มือการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ แบบบันทึกผลการประชุม เพื่อพิจารณาผลการทดลองใช้การพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ แบบบันทึกผลทางการเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพและปัญหาของการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ
1.1 ศึกษาสภาพและปัญหาของการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ โดยการวิเคราะห์เนื้อหาของเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ พบว่า พัฒนาการของเด็กอยู่ในเกณฑ์ต่ำทุกด้าน ด้านศักยภาพของครูยังขาดสมรรถนะในการส่งเสริมการเรียนรู้ ครูไม่ยึดเด็กเป็นสำคัญ ส่วนด้านเด็กก็มีปัญหาหลายประการ กล่าวคือ กระบวนการเรียนรู้ของเด็กไม่มีประสิทธิภาพ ขาดสื่อการเรียนที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนยังมีน้อยและไม่มีประสิทธิภาพ ขาดทักษะการค้นหาความรู้ขาดความมุ่งมั่นในการประสบความสำเร็จ การวิเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การพัฒนารูปแบบการบริหาร เพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) ยกระดับศักยภาพครู-บุคลากร 2) พัฒนากระบวนการเรียนรู้ 3) บูรณาการใช้สื่อและเทคโนโลยี และ 4) ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
1.2 ผลการศึกษาสภาพและปัญหาของการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ จังหวัดลำปาง พบว่า ทุกรายการได้ระดับความคิดเห็นไม่แน่ใจโดยเฉพาะ 3 รายการ ที่มีคะแนนต่ำสุด ได้แก่ โรงเรียนมีการส่งเสริมให้ครูจัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างหลากหลาย ทั้งในและนอกโรงเรียน พร้อมทั้งโรงเรียนมีการสำรวจความต้องการความสนใจของเด็ก เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กตามความต้องการและเกิดประสิทธิภาพ และโรงเรียนสนับสนุนทุกฝ่ายมีส่วนตัดสินใจในการจัดการเรียนรู้แก่เด็กและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเสมอ ซึ่งแสดงถึงความต้องการของครูในการจัดการเรียนการสอนโดยยึดเด็กเป็นสำคัญ โดยเด็กมีส่วนร่วมในการจัดทำกิจกรรมและสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
1.3 ผลการศึกษาสภาพและปัญหาของการบริหารเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทักษะทางวิชาการ โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย พบว่า การปฏิรูปการศึกษายังไม่บรรลุผลโดยสังเกตจากผลที่เกิดกับเด็กยังไม่บรรลุตามมาตรฐานตัวชี้วัดเท่าที่ควร กระบวนการจัดการเรียนการสอนยังไม่ยึดเด็กเป็นสำคัญ ไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการใช้ชีวิตยังไม่มีความพร้อม ไม่สามารถพัฒนาสื่อหรือนำสื่อมาช่วยในการเรียนรู้ของเด็กได้เท่าที่ควร ขาดสื่อ อุปกรณ์การเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ และเด็กยังมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนน้อยมาก ครูไม่มีวิธีการสอนที่หลากหลาย ไม่ทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก
การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศักยภาพทางวิชาการในปัจจุบันเกี่ยวกับพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน สรุปได้ว่า เด็กขาดพัฒนาการสำคัญหลายประการที่ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน เด็กเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้รวดเร็วแต่ขาดวิจารณญาณในการคิด ไม่สามารถเลือกเสพข่าวสาร หรือข้อมูลที่เหมาะสมได้ จึงทำให้การแสดงออกไม่เหมาะสม ขาดคุณธรรม ขาดความรับผิดชอบในการใช้สื่อเทคโนโลยี วิจารณญาณในการคิด กระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ไม่เหมาะสม จึงส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ กาลเทศะ การตัดสินใจในการทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ถูกต้อง เด็กยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ด้วยตนเอง ขาดทักษะการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์องค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ สรุปได้ว่าเด็กทั่วไปสามารถเสริมสร้างศักยภาพได้ตามความเหมาะสม ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา รวมทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เสริมสร้างศักยภาพทางด้านกระบวนการคิด ทักษะชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ความรับผิดชอบต่อตนเอง มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง ควรนำเด็กไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ที่เหมาะสมและปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กมีความประพฤติที่ดี มีความนอบน้อมถ่อมตน มีคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมอาชีพตามความถนัด และด้านดนตรี ด้านกีฬา มีการจัดกิจกรรมในโรงเรียนที่เหมาะสม
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ พบว่า มีความตรงและความเหมาะสมมาก โดยประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 ยกระดับศักยภาพบุคลากร กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนากระบวนการเรียนรู้ กลยุทธ์ที่ 3 บูรณาการใช้สื่อและเทคโนโลยี กลยุทธ์ที่ 4 ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ สรุปได้ดังนี้
3.1 ผลการพัฒนาบุคลากร พบว่า ครูได้รับการพัฒนาตนเองมีการพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์ ปรับเปลี่ยนวิธีสอน สามารถออกแบบกิจกรรมได้หลากหลายสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของโรงเรียนและเด็ก มีการใช้กระบวนการกลุ่ม จัดกิจกรรมใช้ความคิด อภิปราย การแก้ปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังพบว่า ครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น ในส่วนของการทำวิจัยในชั้นเรียนครูมีความกระตือรือร้น สนใจ แสวงหาความรู้ และสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้ทุกคน
3.2 ผลการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ พบว่า มีผลงานการเรียนรู้ที่หลากหลาย จากการที่เด็กมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติจริง จากการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ ทำให้เด็กเป็นนักแสวงหาความรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ทั้งที่เป็นเอกสาร วัสดุ สถานที่ บุคคลซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเพื่อน ครู วิทยากร และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ตลอดจนเป็นผู้รับรู้ที่ดี
3.3 ผลการพัฒนาบูรณาการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ พบว่า ครูมีการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและนำสื่อมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น ได้ปรับปรุงและพัฒนาห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์ ความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาห้องสมุดมีชีวิต ซึ่งมีทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลาย มีสนามเด็กเล่นที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน
3.4 ผลการส่งเสริมภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พบว่า ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองภาคเรียนละ 2 ครั้ง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปัญหาของเด็กโดยให้ผู้ปกครองได้พบปะพูดคุยกับครูที่ปรึกษา ระบบดูแลช่วยเหลือเด็ก และมีการระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ ในชุมชนมาใช้ในการจัดการศึกษาและเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมมาใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์และบุคลากรของโรงเรียน โรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ข้อมูลแก่ชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
4. ผลการประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน และผู้ปกครองเด็กที่มีต่อการพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อส่งเสริมศักยภาพทักษะทางวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลแม่เมาะ พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษา ครู-บุคลากร เด็ก และผู้ปกครองเด็กมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก