ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
ในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ผู้วิจัย นางสาวปรัชญารัตน์ เพ็ชรกำแหง
ปีที่วิจัย 2565
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ใช้วิธีการวิจัยและพัฒนา R & D (Research and Development) พัฒนาตามหลักการ แนวคิดการพัฒนาครู การสอน (Instruction Coaching) การพัฒนาครูมุ่งเน้นการแก้ปัญหา (Solutions-Focused Coaching) การพัฒนาครูแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Coaching) การสะท้อนผล (Reflection) และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) นำมาประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัยพัฒนา ประกอบด้วย 4 ระยะ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ทฤษฎี แนวคิด เกี่ยวกับการพัฒนาครู และสภาพการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 2) พัฒนารูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน และ 4) ศึกษาผลของการใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 จำนวน 21 คน นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5-6 จำนวน 336 คน เครื่องมือประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการพัฒนาครู ประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ประเมินครู ได้แก่ แบบประเมินความรู้ ความเข้าใจของครู คือ แบบประเมินความสามารถในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน และแบบประเมินความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู และ 2) เครื่องมือประเมินนักเรียน ได้แก่ แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ดำเนินการตรวจสอบความเหมาะสมและความสอดคล้องของเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย
1. ผลการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนคร แม่สอด จังหวัดตาก พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับปฏิบัติน้อย ( x̄ = 1.95, S.D. = 0.68)
2. ผลของการออกแบบและพัฒนาได้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก เป็นวิธีการหรือกระบวนการในการพัฒนาครูตามทฤษฎี หลักการและแนวคิดการพัฒนาครู (Coaching) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก โดยมี 4 องค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการ (Principle of Model) 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ (Objective of Model) 3) ขั้นตอนการพัฒนาครู (Process of Coaching) 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อมก่อนการพัฒนาครู (Pre Coaching) ขั้นที่ 2 การพัฒนาครู (Coaching) ขั้นที่ 3 การทบทวน (Review) ขั้นที่ 4 การสะท้อนผล(Reflection) 4) ปัจจัยสนับสนุน (Support System) ได้แก่ ผู้บริหาร ทักษะผู้ชี้แนะ ครูผู้รับการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้าน ICT ที่สนับสนุน ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก พบว่า การประเมินความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเป็นรายด้าน ทุกด้านมีค่าเฉลี่ย 4.00 ถึง 4.60 มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
3. การทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก พบว่า ครูมีทักษะการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานอยู่ในระดับมากที่สุด โดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ ( x̄ = 4.56, S.D. = 0.50) และด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ. 01
4. ผลการใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก พบว่า
4.1 ผลการเปรียบเทียบทักษะการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ครูผู้รับการพัฒนาทั้ง 21 คน พบว่า ภายหลังการใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก มีทักษะการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานสูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบทุกคน
4.2 ผลการเปรียบเทียบคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนจากการใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน พบว่า คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการใช้รูปแบบการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานในโรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก สูงกว่าคะแนนก่อนการใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01