บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการพัฒนาทักษะการอ่านคล่องคิดเป็น ของโรงเรียนเทศบาล ๑ (วัดพรหมวิหาร) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน คือ 1) เพื่อประเมินด้านบริบท 2) เพื่อประเมินด้านปัจจัยนำเข้า 3) เพื่อประเมินด้านกระบวนการ 4) เพื่อประเมินด้านผลผลิต ได้แก่ การอ่านคล่องคิดเป็น ของนักเรียน การนำความรู้และทักษะด้านการอ่าน การคิดไปใช้ในการพัฒนาตนเอง ระดับคุณภาพทางการเรียนของนักเรียน และความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย 1) ครูและครูบรรณารักษ์ จำนวน 36 คน 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน 3) ผู้ปกครองนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 จำนวน 300 คน และ 4) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 จำนวน 327 คน รวมทั้งสิ้น 676 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 7 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพเครื่องมือหาค่าความสอดคล้อง (IOC) การหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ค่าเฉลี่ย ("x" ̅) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
สรุปผลการประเมินโครงการ มีดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินระดับมากที่สุด ("x" ̅ = 4.71, S.D. = 0.44) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านความเป็นไปได้ในการบรรลุวัตถุประสงค์ มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด รองลงมา ด้านความต้องการจำเป็นของโครงการ มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด และด้านความเหมาะสมของการจัดกิจกรรม มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด สรุปด้านบริบทผ่านเกณฑ์การประเมิน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ("x" ̅ = 4.72, S.D. = 0.41) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านความพร้อมของบุคลากร มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด รองลงมา ด้านความเหมาะสมของสถานที่ และแหล่งเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด และความพร้อมของวัสดุอุปกรณ์ อยู่ในระดับมากที่สุด และความพร้อมของงบประมาณ อยู่ในระดับมาก สรุปด้านปัจจัยนำเข้าผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการ พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับมากที่สุด ("x" ̅ = 4.73, S.D. = 0.45) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านการวางแผน มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านการปรับปรุงพัฒนา อยู่ในระดับมากที่สุด การตรวจสอบ กำกับ ติดตาม และการดำเนินงาน อยู่ในระดับมากที่สุด สรุปด้านกระบวนการผ่านเกณฑ์การประเมิน
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า โดยภาพรวม ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับมากที่สุด ("x" ̅ = 4.68, S.D. = 0.54) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มทักษะภาษาไทย และคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับดี (ร้อยละ 75.99) และผลการประเมิน ทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียน มีค่าเฉลี่ยในระดับดีมาก (ร้อยละ 85) ความพึงพอใจต่อ การดำเนินงานโครงการ มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด การนำความรู้และทักษะด้านการอ่าน การคิด ไปใช้ ในการพัฒนาตนเอง และการอ่านคล่องคิดเป็นของนักเรียน มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด สรุปผลการประเมินด้านผลผลิตผ่านเกณฑ์การประเมิน