ชื่อเรื่อง ผลการจัดประสบการณ์โดยใช้แบบฝึกเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์
การรู้ค่าจำนวน การจำแนก เปรียบเทียบ สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-4 ขวบ)
ผู้วิจัย นางสาวชนันธร โสภาลี
สถานที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2565
บทคัดย่อ
ผลการจัดประสบการณ์โดยใช้แบบฝึกเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน การจำแนก เปรียบเทียบ สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-4 ขวบ) มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแบบฝึกเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน การจำแนก เปรียบเทียบ สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-4 ขวบ) ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถทางคณิตศาสตร์ระหว่างก่อนการจัดประสบการณ์กับหลังการจัดประสบการณ์
กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลไทยเจริญ อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ปีการศึกษา 2565 จำนวน 24 คน ซึ่งได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบฝึกเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน การจำแนก เปรียบเทียบ สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-4 ขวบ) จำนวน 10 หน่วยการเรียนรู้ จำนวน 50 แบบฝึก แบบประเมินความสามารถทางคณิตศาสตร์ก่อนจัดประสบการณ์-หลังจัดประสบการณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน การจำแนก เปรียบเทียบ สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-4 ขวบ) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.68/86.38
2. ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์
โดยสรุปแบบฝึกเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน การจำแนก เปรียบเทียบ สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-4 ขวบ) เป็นแบบฝึกกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมกับเด็ก ซึ่งแบบฝึกเพื่อส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ การรู้ค่าจำนวน การจำแนก เปรียบเทียบ สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-4 ขวบ) มีสีสันสวยงาม มีความยากง่ายที่เหมาะสมกับวัย ส่งผลให้ เด็กมีความสนใจอยากเรียนรู้ เนื่องจากเป็นแบบฝึกที่เด็กมีความคุ้นเคยเด็กสามารถนำไปฝึกฝนเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง นอกจากเป็นการเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์แล้วยังช่วยส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคมและ ด้านสติปัญญาสามารถนำไปใช้เตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ