บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้ จากการปฏิบัติเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม การวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และความต้องการการพัฒนาบุคลากรเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลเมืองเลย จังหวัดเลย จำนวน 36 คน ขั้นตอนที่ 2 สร้างรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการสร้างรูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จาก การปฏิบัติเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าสายชั้น หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และครูรับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษา จำนวน 2 คน รวมจำนวน 32 คน ซึ่งใช้ การสนทนากลุ่ม เพื่อรวบรวมข้อมูล และกำหนดกรอบการสร้างรูปแบบ ซึ่งสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับหลักการ และแนวทางการสร้างรูปแบบ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน สำหรับประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 ประเมินรูปแบบ โดยทดลองใช้รูปแบบกับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3 โรงเรียน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม และขั้นตอนที่ 4 ศึกษาผลการใช้รูปแบบ โดยนำไปใช้กับโรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย แบบสอบถามสภาพปัญหาการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และความต้องการการพัฒนาบุคลากรเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบ แบบประเมินความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และแบบประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อรูปแบบ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสถิติค่าที (t-test)
ผลการวิจัย พบว่า
1. การดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาในสังกัดเทศบาลเมืองเลย จังหวัดเลย มีปัญหาในด้านผู้เรียนด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและด้านการบริหารจัดการ โดยโรงเรียนต้องการคำแนะนำที่ชัดเจน และการกำกับดูแล ติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องจากเทศบาลเมืองเลย จังหวัดเลย ต้องการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและต้องการให้มีการประเมินผลจากเทศบาลเมืองเลย จังหวัดเลยและมีการสะท้อนผลการประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
2. รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม ครอบคลุมถึง หลักการ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายการทำงาน การพัฒนาต่อเนื่อง การบูรณาการ หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี และการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ กระบวนการประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติจริง การตรวจสอบและประเมินความก้าวหน้า การปรับปรุงและต่อยอดสู่วิธีที่ดีที่สุด และขั้นตอน ประกอบด้วย 1) เตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะทำหน้าที่นิเทศ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 2) กำหนดประเด็นปัญหาที่ได้จากการนิเทศ ติดตามตรวจสอบและประเมินผลระบบการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา 3) แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นเพื่อคัดเลือกปัญหาหาสาเหตุของปัญหาและหาทางแก้ปัญหา 4) สร้างความรู้และตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ 5) สร้างผลงานที่เป็นวิธีการปฏิบัติอย่างมีระบบ (How to) หรือนวัตกรรมที่จะแก้ปัญหาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา 6) เสนอผลงานร่วมกัน ให้คำเสนอแนะและปรับปรุงงาน 7) นำผลงานที่เป็นนวัตกรรมไปปฏิบัติในสถานศึกษา 8) ประเมินผลงานและสรุป 9) ประเมินค่านิยมรูปแบบพัฒนา 10) เผยแพร่ผลงานให้หน่วยงานอื่นทราบ
3. ผลจากการประเมินความเหมาะสม และการตรวจสอบความเป็นไปได้โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการพัฒนาบุคลากรด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ทุกองค์ประกอบ
4. ผลการประเมินรูปแบบโดยทดลองใช้ในโรงเรียน จำนวน 3 โรงเรียน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาก่อนและหลังการใช้รูปแบบ แตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยหลังใช้รูปแบบ มีความรู้ ความเข้าใจ มากกว่าก่อนใช้ กลุ่มตัวอย่างมีทักษะในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา อยู่ใน ระดับมาก กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา อยู่ในระดับ มากที่สุด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อรูปแบบอยู่ในระดับมากที่สุด
5. ผลการศึกษาการใช้รูปแบบ กล่าวคือ หลังจากนำรูปแบบไปทดลองใช้แล้ว พบว่า บุคลากร ที่ทำหน้าที่นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ผู้วิจัย จึงนำรูปแบบมาใช้ในโรงเรียนเทศบาล 5 บ้านหนองผักก้าม สังกัดเทศบาลเมืองเลย จังหวัดเลย ผลการใช้รูปแบบ พบว่า สถานศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีผลการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษา หลังการใช้รูปแบบมีค่าคะแนนสูงกว่าก่อนใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังการใช้รูปแบบ สูงขึ้นกว่าก่อนใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผู้บริหารสถานศึกษา ครู-บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพึงพอใจต่อ การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่ทำหน้าที่นิเทศ ติดตามตรวจสอบ และประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด