พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มีจุดหมายเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขโดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ให้สังคมมีส่วนร่วม ในการจัดการศึกษา การพัฒนาสาระการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง (กรมวิชาการ. 2545 ก: 2) สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่มีจุดหมายต้องการพัฒนาคนไทยให้มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตน ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี และมีทักษะชีวิต มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทย พลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 3)
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ ระเบียบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ทำให้สามารถคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจและแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. 2551 : 1) คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสมดุลทั้งทางร่ายกาย จิตใจ สติปัญญาและอารมณ์ สามารถคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กรมวิชาการ. 2545 ข : 1) จึงนับว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การดูเวลา การกำหนดรายรับรายจ่ายในครอบครัว แม้กระทั่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ล้วนอาศัยคณิตศาสตร์ทั้งสิ้น นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือที่ปลูกฝังอบรมให้ผู้เรียนเป็นคนช่างสังเกตรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล แสดงความคิดออกมาอย่างเป็นระเบียบและมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาอีกด้วย (พิศมัย ศรีอำไพ. 2543 : 6) ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนควรให้ความสนใจและเอาใจใส่ต่อการจัดการเรียนรู้ แต่สภาพการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในปัจจุบันของไทยยังคงประสบกับปัญหาหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมุ่งเน้นเนื้อหาและความจำมากกว่าเน้นกระบวนการ นักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้และทักษะไม่เพียงพอ ครูใช้ความสามารถในการสอนเพียงคนเดียวถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนเป็นกลุ่มใหญ่พร้อมกัน ซึ่งในสภาพห้องเรียนที่มีบทบาทครูมากเกินไปนั้น จะไม่สามารถให้นักเรียนทั้งหมดรู้ได้อย่างดี ซึ่งส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ คือ การจัดการเรียนการสอนที่ไม่ตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านทักษะความสามารถ ความเข้าใจและความสามารถในการแก้ปัญหา การที่จะทำให้นักเรียนทุกคน
เรียนรู้ในสิ่งที่ยาก และมีลักษณะเป็นนามธรรมให้ได้ผลเท่ากัน ในเวลาจำกัดย่อมเป็นไปได้ยาก (วรลาภ แสงวัฒนะชัย. 2542 : 11) จากการสอนรายวิชาคณิตศาสตร์พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโป่ง ประสบปัญหาการเรียนรู้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร นักเรียน ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้และแก้ปัญหาได้ ครูผู้สอนจึงได้ศึกษาค้นคว้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะในการเรียนรู้เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหานั้นควรเหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วย
รูปแบบการเรียนรู้คณิตศาสตร์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนเรียนรู้
จากการปฏิบัติจริง คือ การเรียนรู้จากการใช้คำถามประกอบคำอธิบาย และแสดงผลการเรียนรู้
จากการศึกษาค้นคว้า จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ โดยอิสระ สามารถศึกษาได้จากสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ (กรมวิชาการ. 2545 ข : 193) ครูผู้สอนจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาต่างๆ โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน (ยุพิน พิพิธกุล. 2540 : 24) โดยเฉพาะกิจกรรมการเรียน การสอนคณิตศาสตร์ครูต้องเน้นให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของคุณธรรม ในการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ และต้องเน้นทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ อันประกอบด้วยกระบวนการอุปนัย นิรนัย กระบวนการแก้ปัญหา ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจะต้องไม่ยึดครูเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยครูเป็นผู้เตรียมสื่อการเรียนต่าง ๆ เพื่อให้เนื้อหาบทเรียนมีความเป็นรูปธรรมง่ายต่อการเรียนรู้และช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง จึงจะทำให้เด็กจดจำความรู้ได้ดียิ่งขึ้น (จิราภรณ์ แจ่มชัดใจ. 2540 : 48 49) รูปแบบการสอนที่ดีควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างความคิดรวบยอด ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง จัดกิจกรรมที่หลากหลายท้าทายความคิด ครูผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหา และส่งเสริมความเข้าใจให้กับผู้เรียน เนื้อหา บางเรื่องไม่สามารถอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจได้ ต้องอาศัยวิธีการสอนที่เหมาะสม ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทั้งทางร่างกาย ความคิดสติปัญญา อารมณ์ ความรู้สึก และการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพทางธรรมชาติ ด้วยการนำสื่อ โสตทัศนศึกษาและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการการเรียนรู้ (ทิศนา แขมมณี. 2540 : 1 22) เทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีความเหมาะสม สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์อีกอย่างหนึ่งคือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ Co-5STEPs หรือกระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง การหาพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กระบวนการจัดการเรียนรู้ Co-5STEPs หรือกระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง การหาพื้นที่ผิวและปริมาตร ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตรของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน แสดงให้เห็นว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้ Co-5STEPs หรือกระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง การหาพื้นที่ผิวและปริมาตร สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้สูงกว่ากลุ่มที่เรียนด้วยวิธีปกติ และทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ชอบ สามารถเรียนรู้และเข้าใจง่าย ดึงดูดความสนใจ ทำให้เกิดความสนุกสนาน มีความกระตือรือร้น และมีความสนใจใฝ่รู้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ผู้รายงานจึงมีความสนใจที่จะสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระ
การเรียนรู้คณิตศาสตร์ ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ Co-5STEPs หรือกระบวนการเรียนรู้แบบรวมพลัง เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่อง การหาพื้นที่ผิวและปริมาตร ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ขึ้นเพื่อทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น และเกิดความพึงพอใจที่ดีต่อการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ต่อไป