ผู้รายงาน : ว่าที่ร้อยตรีสันติสุข ช่างเย็น
ปีการศึกษา : 2564
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการเสริมสร้างทักษะอาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่อคุณภาพชีวิตของนักเรียนโรงเรียนวัดแสงมณี ปีการศึกษา2564 ครั้งนี้ ใช้รูปแบบ CIPP MODEL โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อประเมินสภาวะแวดล้อม 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้า 3) เพื่อประเมินกระบวนการ 4) เพื่อประเมินผลผลิต ประชากรที่ใช้ จำนวน 76 คน ได้แก่ ครู จำนวน 9 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 67 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม จำนวน 1 ฉบับ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) สถิติที่ใช้
คือ ค่าเฉลี่ย (μ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ)
ผลการประเมิน พบว่า
1. การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context evaluation) ตามความคิดเห็นของครูและนักเรียน ในภาพรวมมีความเหมาะสมกับบริบทอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.72, σ = 0.58) เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในสังคม (μ = 4.85, σ = 0.38) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายการ
ที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ หลักการและเหตุผลมีความสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (μ = 4.48, σ = 0.72) ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) ตามความคิดเห็นของครูและนักเรียน
ในภาพรวมมีความเหมาะสมกับบริบท อยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.55, σ = 0.68) เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ และความสามารถ
ในการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการ (μ = 4.85, σ = 0.47) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
และรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีเอกสาร หนังสือ คู่มือ ในการดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ
(μ = 4.34, σ = 0.77) ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. การประเมินกระบวนการ (Process evaluation) ตามความคิดเห็นของครูและนักเรียน
ในภาพรวมมีความเหมาะสมกับบริบทอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.51,σ = 0.64) เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ การจัดกิจกรรมตามโครงการอย่างเหมาะสมตามปฏิทิน
ที่กำหนดไว้ (μ = 4.73, σ = 0.55) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การประเมินผลการปฏิบัติงานตามโครงการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องครบทุกกิจกรรม (μ = 4.27, σ = 0.64) ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
4. การประเมินผลผลิต (Product evaluation) ตามความคิดเห็นของครูและนักเรียน
ในภาพรวมมีความเหมาะสมกับบริบทอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.79, σ = 0.45) เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า รายการที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ (μ = 4.86, σ = 0.34) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และรายการที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม (μ = 4.72, σ = 0.54) ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด