บทคัดย่อ
แผนผังความคิด (Mind Mapping) เป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนภาษาที่สองโดยเฉพาะการเขียน แผนผังความคิด (Mind Mapping) ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์ การเริ่มต้น แนวทางการเขียนประโยค การใช้คีย์เวิร์ดสำคัญและนำไปผูกเป็นประโยค ทำให้สามารถสร้างประโยคและเรียบเรียงประโยคภาษาอังกฤษได้ถูกต้องตามโครงสร้างทางไวยากรณ์ การวิจัยเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผนการปฏิบัติการ (Planning) การปฏิบัติงาน (Action) การสังเกตการปฏิบัติงาน (Observation) และการสะท้อนผลการปฏิบัติการ (Reflection) การวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้แผนผังความคิด (Mind Mapping) ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1/1โรงเรียนเมืองยางศึกษา อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 22 คน เทคนิคที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ เทคนิคการสังเกตแบบไม่มีโครงสร้างโดยการบันทึกวีดีโอ การสังเกตโดยผู้ร่วมวิจัย การเขียนอนุทินของนักเรียน และการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างโดยการบันทึกเทป ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมโดยใช้เทคนิคสามเส้าแล้วเขียนรายงานการวิจัยตามรูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ผลการวิจัยปรากฏผลดังต่อไปนี้
วงจรที่ 1 ผู้วิจัยใช้การเขียนเติมคำศัพท์จากเรื่องที่อ่านลงในแผนผังความคิด (Mind Mapping) พบว่านักเรียนสามารถอ่านและเขียนคำศัพท์ได้ แ ละผู้วิจัยให้นักเรียนทำใบงาน
สร้างแผนผังความคิดของตนเองขึ้นมาจากเรื่องที่เรียน แต่ปัญหาที่พบคือนักเรียนบางคนไม่เข้าใจ
การสร้างแผนผังความคิดของตนเอง และไม่สามารถนำแผนผังความคิดมาผูกประโยคและเขียนเรียบเป็นประโยคภาษาอังกฤษได้ถูกต้อง
วงจรที่ 2 ผู้วิจัยได้แก้ปัญหานักเรียนที่ยังไม่เข้าใจการเขียนแผนผังความคิดและเขียนเรียบเรียงประโยคไม่สัมพันธ์กับแผนผังความคิด( Mind Mapping) ของตนเองโดยการเขียนตัวอย่าง
แผนผังความคิดใส่ชาร์ตแผ่นใหญ่อธิบายลักษณะของแผนผังความคิดให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่างและให้นักเรียนได้ทำแบบฝึกหัดจากเรื่องที่อ่านแล้วเติมลงในแผนผังความคิดที่กำหนดให้ พบว่านักเรียนเข้าใจและเขียนโครงสร้างประโยคเติมลงในแผนผังความคิดได้ จากนั้นให้นักเรียนทำใบงานเขียนแผนผังความคิดของตนเองในขั้นนำไปใช้พบว่านักเรียนสามารถนักเรียนสามารถสร้างแผนผังความคิดของตนเองได้ และสามารถเขียนผูกประโยคอธิบายแผนผังของตนเองได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบคือยังมีนักเรียนบางคนเขียนเรียบเรียงความสำคัญในแผนผังความคิดไม่เป็นระเบียบและเขียนเรียบเรียงผูกประโยคไม่สัมพันธ์กับแผนผังความคิด
วงจรที่ 3 ผู้วิจัยแก้ปัญหาที่พบคือนักเรียนเขียนเรียบเรียงความสำคัญในแผนผังความคิดไม่เป็นระเบียบโดยการให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดอ่านเนื้อเรื่องและอธิบายเกี่ยวกับแผนผังความคิดว่าจะเรียงลำดับแบบใดโดยให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดอ่านเนื้อเรื่อง และเติมลงไปในแผนผังที่กำหนดให้จากเรื่องที่อ่านตามลำดับ พบว่านักเรียนมีความเข้าใจในการเรียงลำดับความคิดจากเนื้อเรื่องดีขึ้นเข้าใจคำศัพท์และเขียนเติมประโยคลงไปได้ตามลำดับในแผนผังความคิดจากเรื่องที่อ่านได้ และการอธิบายอย่างชัดเจนถึงลักษณะของการนำแผนผังความคิดมาเขียนผูกประโยคและเรียบเรียงประโยคก่อนให้นักเรียนทำใบงาน พบว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านการเขียนที่ดีขึ้น มีการวางรูปแบบแผนผังความคิดที่เป็นระเบียบ และมีการเขียนที่สัมพันธ์กับแผนผังความคิดที่วาดไว้มากขึ้น