กิจกรรมที่1 การทดลองสีจากธรรมชาติ
เรื่องผักสีเขียว ใบเตย
สาระสำคัญ : ผักมีหลายชนิดแต่ละชนิดมีสีสันต่างๆ กัน
จุดประสงค์
1. เด็กทำกิจกรรมการทดลอง เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน (มฐ. 9,12)
1.1 ทักษะการสังเกต : เด็กบอกน้ำสีที่ได้จากวิธีการสกัดจากใบเตยได้
1.2 ทักษะการจำแนกประเภท :เด็กจำแนกและบอกความแตกต่างของน้ำสีที่ได้จากการทดลองทั้ง3วิธีได้
1.3 ทักษะการลงความเห็นข้อมูล : เด็กลงความเห็นข้อมูลและสรุปผลจากวิธีการทดลอง 3 วิธีได้
: เด็กบอกประโยชน์ของน้ำสีที่สกัดจากใบเตยได้
1.4. ทักษะการสื่อความหมาย : เด็กอธิบายคำตอบหรือข้อค้นพบจากการสังเกต ทดลอง และบันทึกผล
จากการทดลองได้
2. เด็กทำกิจกรรมการทดลองสกัดสีจากใบเตยด้วยเทคนิคWATKOM MODELเพื่อหาคำตอบตามวิธีที่เลือกไว้
สื่อและอุปกรณ์
1. ใบเตย 30 ชิ้น 5. กะละมัง 1 ใบ
2. กระชอน 3 อัน 6. แก้วน้ำ 6 ใบ
3. ครกไม้พร้อมสาก 1 คู่ 7. แว่นขยาย 6 อัน
4. น้ำเปล่า 3 ขวด 8. ถุงพลาสติกพร้อมไม้ทุบ 1 ชุด
การดำเนินกิจกรรม
1.ขั้นสร้างความต้องการที่จะเรียนรู้ (W)
1.1 เด็กฟังปริศนาคำทาย : ผักอะไรเอ๋ย ใบสีเขียว มีกลิ่นหอม ไว้ใส่ในขนมหวาน (ใบเตย)
1.2 เด็กเล่าถึงประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวกับลักษณะ/สีของใบเตยที่เด็กรู้จัก
1.3 อาสาสมัครเด็กวาดรูปใบเตยที่เคยเห็นบนกระดานไวท์บอร์ด
2. ขั้นกิจกรรมการทดลอง (A)
2.1 เด็กร่วมกันสังเกตใบเตยเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ สี กลิ่น ขนาด ลักษณะและส่วนประกอบต่างๆ ที่ครูนำมาให้เด็กร่วมกันสังเกต
2.2 เด็กตอบคำถาม ที่ครูกระตุ้นให้เด็กคิด แล้วเข้ากลุ่มเพื่อเลือกใช้วิธีการทดลองสกัดสีจากใบเตย
- ใบเตยที่ใช้ทดลองมีลักษณะเป็นอย่างไร
- เด็กจะใช้วิธีการทดลอง แบบใดบ้าง
- เด็กคิดว่า สีที่ได้จากการทดลองทั้งหมดจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
2.3 เด็กฟังครูแนะนำวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทดลองและสาธิตวิธีการขั้นตอนการทดลอง ดังนี้
การทดลองแบบที่ 1 การขยำ
1. นำใบเตยที่หั่นแล้ว 10 ชิ้น ใส่กะละมังใช้มือขยำจนทุกใบละเอียด
2. เทน้ำลงไปใช้ช้อนคนให้เข้ากัน
3. เทใส่กระชอนเพื่อกรองเอากากออก
การทดลองแบบที่ 2 การตำ
1. นำใบเตยที่หั่นแล้ว 10 ชิ้น ใส่ครกไม้ตำให้ละเอียด
2. นำใบเตยที่ตำแล้วใส่ในแก้วน้ำแล้วเทน้ำลงไปครึ่งแก้ว ใช้ช้อนคนให้เข้ากัน
3. เทใส่กระชอนเพื่อกรองเอากากออก
การทดลองแบบที่ 3 การทุบ
1. นำใบเตยที่หั่นแล้ว 10 ชิ้น ใส่ถุงพลาสติกแล้วใช้ไม้ทุบจนเกิดสี
2. นำใบเตยที่ทุบแล้วใส่ในแก้วน้ำ
3. แล้วเทน้ำเปล่าใส่ลงไปสักครึ่งแก้ว
4. ใช้ช้อนคนให้เข้ากัน
5. เทน้ำในแก้วใส่กระชอน เพื่อกรองเอากากของใบเตยออกจนหมด
2.4 เด็กแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มๆละเท่าๆ ตามความสมัครใจ โดยวิธีการดังนี้
2.4.1 สร้างข้อตกลงว่ากลุ่มใดจะทำการทดลองแบบไหน ( จากที่เลือกไว้ การขยำ การตำ การทุบ )
2.4.2 เด็กแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมารับวัสดุ - อุปกรณ์ในการทดลอง ที่ครูจัดเตรียมไว้
2.5 เด็กแต่ละกลุ่ม ช่วยกันทดลองใช้วิธีสกัดสีจากใบเตยตามขั้นตอนของวิธีการที่กลุ่มเลือกไว้ โดยครูดูแลให้คำแนะนำ
3. ขั้นสนทนา อธิบาย (T)
3.1 เด็กแต่ละกลุ่มผลัดกันออกมานำเสนอผลการทดลองการสกัดสีของใบเตยโดยช่วยกันอธิบายจากการสังเกตและบันทึกไว้ โดยครูคอยช่วยชี้แนะเมื่อเด็กต้องการ
3.2 เด็กสนทนาร่วมกับครู เพื่อลงความเห็นสรุปข้อมูลจากวิธีการทดลองในการสกัดสีใบเตยทุกแบบโดยครูใช้คำถามนำกระตุ้นให้คิดดังนี้
- เด็กคิดว่า "ใบเตยที่กลุ่มนำมาใช้ทดลองมีสีลักษณะใด " "สีเหมือนหรือต่างไปจากเดิม หรือไม่ อย่างไร"
- เด็กสรุปได้ไหมว่า "สีของน้ำแต่ละแก้ว มีสีเหมือนหรือต่างกัน อย่างไร
4. ขั้นเก็บความรู้เพิ่มเติม (K)
4.1 เด็กแต่ละกลุ่มเก็บความรู้เพิ่มเติมโดยทำกิจกรรมตามวิธีที่ตกลงร่วมกัน คือ ให้เด็กใช้พู่กัน จุ่มน้ำสีจากใบเตยที่สกัดได้จากทุกกลุ่ม นำมาระบายสีลงแบบฝึกทักษะที่ครูออกแบบไว้
5. ขั้นแสดงความคิดเห็น (O)
5.1 เด็กสนทนาร่วมกับครู เพื่อแสดงความคิดเห็นจากข้อมูลที่ได้จากผลการทดลองสกัดสีใบเตย ทุกแบบ
โดยครูถามนำว่า "เราจะใช้วิธีใด ที่จะรู้ว่า น้ำของสีจะเหมือนกันหรือแตกต่างกัน "
5.2 เด็กช่วยกันบอกวิธีการจำแนกความเข้มของน้ำสีที่ได้จาก 3 วิธีการสกัดที่แตกต่างกัน โดยครูกระตุ้นให้เด็กหาวิธีการแล้ว ตกลงกันว่า จะเลือกใช้วิธีใด
6.ขั้นสรุปเนื้อหา (M)
6.1 เด็กและครูร่วมกันสนทนาสรุปผลการทดลองที่ได้ โดยให้เด็กตอบคำถาม ที่ครูใช้ ถามเพื่อสรุปเนื้อหา ดังนี้
- น้ำสีที่สกัดได้จาก 3 วิธี มีสีเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
- เด็กๆคิดว่า มีวิธีการอื่นๆ ที่จะนำมาใช้สกัดสีจากใบเตยได้อีกบ้าง
- เด็กๆคิดว่า น้ำสีจากใบเตยที่สกัดได้ จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง
การประเมินผล
สังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ได้จากการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็ก
ขณะการทำกิจกรรมในขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. เด็กบอกน้ำสีที่ได้จากวิธีการสกัดจากใบเตยได้ (ทักษะการสังเกต)
2. เด็กจำแนกและบอกความแตกต่างของน้ำสีที่ได้จากการทดลองทั้ง3วิธีได้ (ทักษะการจำแนกประเภท)
3. เด็กลงความเห็นข้อมูล สรุปผลจากวิธีการทดลอง 3 วิธีและบอกประโยชน์ของน้ำสีที่สกัดจากใบเตยได้(ทักษะการลงความเห็นข้อมูล)
4. เด็กอธิบายคำตอบหรือข้อค้นพบจากการสังเกต ทดลอง และบันทึกผลการทดลองได้ (ทักษะการสื่อความหมาย)