ผู้นำเสนอผลงาน : นางอรุณธดี คำดี
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบการทดลองเบื้องต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ที่มีต่อการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์วรรณคดี เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้
ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ห้อง ๘ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา
๒๕๖๕ โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี จำนวน ๔๔ คน โดยการสุ่มการเลือกแบบเจาะจง รูปแบบในการวิจัย ครั้งนี้ผู้วิจัยใช้
วิธีการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ซึ่งจะศึกษาประชากรกลุ่มเดียว โดยมีการทดสอบ ก่อนและ
หลังการทดลอง ที่เรียกว่า One Group Pretest-Posttest design เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม
ความพึงพอใจ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ๕ ระดับ จำนวน ๑๐ ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
ข้อมูล ได้แก่ ค่าประสิทธิภาพของแบบสอบถามความพึงพอใจ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ที่มีต่อการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์วรรณคดี
เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย มีค่าคะแนนเฉลี่ย ( X ) เท่ากับ ๔.๖๘ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ ๐.๓๘
โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นด้าน พบว่า
ด้านเนื้อหาโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (𝑥̅ = ๔.๖๕, S.D = ๐.๔๔) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า
ข้อที่นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดเป็น ลำดับสูงสุด คือ ข้อ ๕ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย มีตัวอักษรชัดเจน สวยงาม เหมาะสม และอ่านง่าย (𝑥̅ = ๔.๗๒, S.D = ๐.๕๐) ข้อที่นักเรียน
มีความพึงพอใจอยู่ในระดับน้อยที่สุด คือ ข้อ ๒ ความยาวของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่ายมีความ
เหมาะสม (𝑥̅ = ๔.๕๓,S.D = ๐.๖๗)
ด้านประโยชน์และความรู้สึกโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (𝑥̅ = ๔.๗๒,S.D = ๐.๓๘) เมื่อพิจารณา
เป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดเป็นลำดับสูงสุด คือ ข้อ ๙ ควรมีการนำ
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้ประกอบการเรียนการสอนอีก (𝑥̅ = ๔.๘๑, S.D = ๐.๔๕) ข้อที่นักเรียนมีความพึงพอใจ
อยู่ในระดับน้อยที่สุด คือ ข้อ ๘ ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับในหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย อยู่ใน
ระดับใด (𝑥̅ = ๔.๖๓, S.D = ๐.๕๘)
คำสำคัญ : ความพึงพอใจ, ลิลิตตะเลงพ่าย