ชื่อวิจัย การวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนพัฒนาทักษะการเขียนย่อความของ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า
(โควิด 19) โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนย่อความ
ผู้วิจัย นางสาวนฤมล ศิริธีรกุล
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง
สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการเรียนการสอนพัฒนาทักษะการเขียนย่อความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนย่อความ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ 1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ในการพัฒนาทักษะการเขียนย่อความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ การเขียนย่อความ และ2) เพื่อศึกษาความสามารถในการเขียนย่อความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 326 คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/9 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 38 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จัดการเรียนการสอนรูปแบบ On Site, Online และ On Hand เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนย่อความ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การพัฒนาทักษะการเขียนย่อความ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเขียนย่อความและแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนโดยการใช้แบบฝึกการเขียนย่อความ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ เกณฑ์ประสิทธิภาพมาตรฐาน 80/80 การหาค่าดัชนีความสอดคล้อง IOC การหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ค่าเฉลี่ย (¯("x" )) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า t - test แบบ dependent การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ
ผลการวิจัย
1. แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนย่อความของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนย่อความของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.20/84.78 มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนได้
2. ผลการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนพัฒนาทักษะการเขียนย่อความของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
2.1 วงจรที่ 1 พบว่า ผู้สอนไม่มีเทคนิควิธีสอนในการกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเขียนย่อความ และไม่ได้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเขียนย่อความให้ผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ ผู้เรียนมีทักษะการเขียนย่อความน้อย ขาดเรียนบ่อย และผู้สอนจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนรูปแบบ On Site, On Line และ On Hand ผู้สอน ผู้ปกครอง และผู้บริหารสถานศึกษา ตกลงร่วมมือกันแก้ไขปัญหาทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ผู้สอนนำข้อเสนอแนะจากแผนที่ผ่านมาทั้งของผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแผน และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่เพียงพอสำหรับการจัดกิจกรรม คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ ผู้เรียนมีคะแนนผลการเรียนอ่อน ควรมีการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนย่อความในวงจรต่อไป ผู้เรียนบางคนเขียนย่อความไม่เก่ง ผู้สอนจึงต้องคอยเน้นย้ำถึงวิธีการเขียนย่อความทุกครั้ง ผู้สอนต้องปรับลดใบกิจกรรมให้ง่ายขึ้น ปรับเนื้อเรื่องที่ต้องการย่อความให้กระชับสั้นลง และปรับปรุงเนื้อหาที่จะย่อความให้หมาะสมกับวัยของผู้เรียนมากขึ้น เพื่อผู้เรียนจะสามารถเขียน และเขียนย่อความได้ดีขึ้น เกิดแรงกระตุ้นให้รักการเขียนมากขึ้น
2.2 วงจรที่ 2 การจัดการเรียนรู้พัฒนาความสามารถในการเขียนย่อความของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า ผู้เรียนสามารถเขียนส่วนที่เป็นคำนำ เป็นส่วนที่เขียนในย่อหน้าแรก เพื่อให้ผู้อ่านทราบที่มาของเรื่อง ว่าเป็นเรื่องประเภทใด ได้ ผู้เรียนสามารถเขียนย่อความส่วนที่เป็นใจความสำคัญของเรื่อง โดยนำเนื้อหามาเรียบเรียงแล้วเขียนให้เป็นย่อหน้าเดียว และ ผู้เรียนสามารถทำแบบทดสอบทักษะการเขียนย่อความได้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 83.87ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังพบพว่า สำหรับผู้เรียนบางคนที่เขียนย่อความได้ช้า เมื่อผู้สอนให้เวลากับผู้เรียนกลุ่มนี้มากขึ้นและคอยให้กำลังใจ คอยเสริมแรงให้มีกำลังใจในการอ่านและการเขียนย่อความมากขึ้น และให้การบ้านไปฝึกอ่านและเขียนย่อความในตอนเย็น โดยขอให้ผู้ปกครองร่วมเสริมแรงช่วยดูแลลูกในขณะทำการบ้านที่บ้านอย่างใกล้ชิด ผลการปฏิบัติที่ได้แก้ไขของผู้เรียนกลุ่มนี้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ส่วนความสามารถในการเขียนย่อความของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเขียนย่อความของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนย่อความ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยที่ค่าทีสแต็ด (t-Stat) สูงกว่าค่าทีคริติคอลทูเทลส์ (t-Critical two tails) ส่วนพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน พบว่า ในช่วงแรก ๆ มีผู้เรียนบางคน ไม่ค่อยสนใจเรียนเท่าที่ควร แต่เมื่อผู้สอนเสริมแรง ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจและตั้งใจเรียนและทำให้สามารถอ่านเรื่องและเขียนย่อความได้อย่างถูกต้อง มากขึ้น มีความซื่อสัตย์ในการทำงาน มีความตรงต่อเวลาเข้าเรียนตรงเวลา เคารพในสิทธิของผู้อื่น มีความสนใจในเรื่องที่ผู้สอนให้อ่านและกระตือรือร้นในการอ่านเรื่องมากยิ่งขึ้น
3. ด้านความคิดเห็นของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการเรียนโดยการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการเขียนย่อความ พบว่า มีระดับความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ทั้งด้านเนื้อหาและด้านกิจกรรม