ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี โดยใช้ CUCAR MODEL
เพื่อส่งเสริมการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และมโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้รายงาน : นางสาวพฐินันท์ แนนดี
ตำแหน่ง : ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
สังกัด : โรงเรียนไร่ใต้ประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่พิมพ์ : 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี โดยใช้ CUCAR MODEL เพื่อส่งเสริมการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และมโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี โดยใช้ CUCAR MODEL เพื่อส่งเสริมการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และมโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 โรงเรียนไร่ใต้ประชาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 40 คน ที่ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) รูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี 2) แผนจัดการเรียนรู้ใช้เวลาแผนละ 2 ชั่วโมง จำนวน 5 แผน 3) แบบทดสอบความสามารถในการคิดแก้ปัญหา จำนวน 30 ข้อ 30 คะแนน 4) แบบทดสอบความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ จำนวน 30 ข้อ 30 คะแนน และ 5) แบบวัดมโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ttest (Dependent Samples) ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า CUCAR MODEL โดยมีองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง 6) ระบบสนับสนุน รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเสนอแนวความคิด (Concept Step) 2) ขั้นใช้แนวความคิดเดิม (Using the Original Concept) 3) ขั้นยกระดับแนวความคิด (Concept Upgrading) 4) ขั้นนำแนวความคิดไปประยุกต์ใช้ (Applying the Concept) และ 5) ขั้นสะท้อนและทบทวน (Reflection and Review) ตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนมีผลการประเมินคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.89, S.D.=0.37)
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี โดยใช้ CUCAR MODEL เพื่อส่งเสริมการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และมโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สรุปได้ดังนี้
2.1 ผลการหาประสิทธิภาพ (E1/E2) กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนไร่ใต้ประชาคม จำนวน 40 คน ได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 79.05/81.80 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 75/75
2.2 ความสามารถในการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี โดยใช้ CUCAR MODEL เพื่อส่งเสริมการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และมโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.3 ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี โดยใช้ CUCAR MODEL เพื่อส่งเสริมการคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และมโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.4 มโนทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนรายวิชาเคมี โดยใช้ CUCAR MODEL สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด