ชื่อเรื่องวิจัย การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครู
ในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่
ผู้วิจัย นางดวงจันทร์ เจียงคง
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
สถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่
ปี พ.ศ. 2565
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้พัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครู
ในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่
โดยมีขั้นตอนการวิจัย 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ โดยการสังเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ขั้นตอนที่ 2 สร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ โดยการยกร่างรูปแบบการนิเทศภายใน แล้วจัดทำคู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศหลังจากนั้นจึงได้ตรวจสอบรูปแบบการนิเทศภายใน โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 ท่าน และครู 10 คน หลังจากนั้นจึงปรับปรุงรูปแบบการนิเทศภายใน ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ แหล่งข้อมูลได้แก่ครูผู้สอน จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ แบบประเมินความสามารถการจัดการเรียนรู้ด้านการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และทักษะการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และด้านเจตคติต่อการจัดการเรียนรู้ มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และขั้นตอนที่ 4 ประเมินความ พึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ แหล่งข้อมูลได้แก่ครูผู้สอนจำนวน 20 คน โดยใช้แบบประเมินมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า การนิเทศภายในเป็นกระบวนการและกิจกรรมที่มุ่งให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริม ปรับปรุงในการสอนของครูมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโดยใช้การจัดการเรียนรู้ เกิดจากการบูรณาการการนิเทศแบบคลินิก การนิเทศแบบชี้แนะทางปัญญา และการนิเทศแบบพี่เลี้ยงโดยมีหลักการที่ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศร่วมปรึกษาหารือ วางแผนวิเคราะห์ สังเกตการสอน ลงมือปฏิบัติ และให้ข้อมูลย้อนกลับจนประสบผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย ซึ่งผู้นิเทศจะให้คำชี้แนะแก่ผู้รับการนิเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้ด้วยตนเอง และให้คำปรึกษา คำแนะนำแก่ผู้รับการนิเทศที่มีประสบการณ์น้อย หรือเริ่มทำงานให้ได้รับการพัฒนา และส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้
2. ผลการสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ พบว่า รูปแบบการนิเทศ มีกระบวนการ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้น 1 การวางแผนกำหนดทิศทาง (D: Directional planning) ขั้น 2 การปฏิบัติการนิเทศ (S: Supervisory Management) ขั้น 3 การเรียนรู้เพื่อพัฒนา (L: Learning development) ซึ่งผลการประเมินรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ และคู่มือการใช้รูปแบบการนิเทศภายใน พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดทั้งสองรายการ ส่วนผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ พบว่า ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจ สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และจัดการเรียนการสอนทีส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ได้และเกิดเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้
3. ผลการศึกษาการใช้รูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ พบว่า ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลังการส่งเสริมสูงกว่าก่อนการส่งเสริมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสามารถเขียนแผนและจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด และมีเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการนิเทศภายในเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงใหม่ พบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก