ชื่อผู้วิจัย นางสาวอาภาพร เตียงชัยภูมิ
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) สร้างและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 4) ประเมินผลรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รูปแบบที่ใช้ในการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and development) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนเนินสง่าวิทยา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 26 คน ได้มาโดยใช้วิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา แผนการจัดการเรียนรู้วิชาชีววิทยา แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดความสามารถการคิดอย่างมีวิจารณญาณ แบบวัดจิตวิทยาศาสตร์ และแบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test dependent Samples และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1) ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า ผลการวิเคราะห์เอกสารได้ระบุให้มีการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ สภาพการจัดการเรียนรู้ปัจจุบันที่เกี่ยวกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับปานกลาง และความต้องการในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับมากที่สุด
2) ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 นี้ มีชื่อว่า SSSRE Model โดยมีองค์ประกอบดังนี้ หลักการ วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ ขั้นตอนการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และ ระบบสนับสนุน โดยขั้นตอนการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 สร้างความสนใจ (Stimulation : S) ขั้นที่ 2 นำเสนอสถานการณ์ (Situation : S) ขั้นที่ 3 สืบเสาะค้นหาคำตอบ (Search and Action : S ) ขั้นที่ 4 สะท้อนความรู้ (Reflection : R) และขั้นที่ 5 ประเมินและประยุกต์ใช้ (Evaluate and Apply : E) โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา (SSSRE Model) ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.26/81.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
3) ผลจากการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (SSSRE Model) พบว่า
3.1) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.2) นักเรียนมีจิตวิทยาศาสตร์เฉลี่ยหลังเรียนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4) ผลจากการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุกวิชาชีววิทยา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และจิตวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยประเมินจากความพึงพอใจของนักเรียนหลังเรียน อยู่ในระดับมาก