การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนบ้านท่าจาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 โดยใช้รูปแบบซิป (CIPP Model) โดยประเมินโครงการ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพบริบทของโครงการ ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการดำเนินงาน และด้านผลผลิตและความพึงพอใจ ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ทั้งสิ้น 105 คน จำแนกได้ดังนี้ ครูผู้สอน จำนวน 10 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่นับผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้แทนครู รวม 2 คน)
นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 44 คน จำแนกเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 14 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 14 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 16 คน และผู้ปกครองนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 44 คน (กำหนดเท่ากับจำนวนนักเรียน) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามจำนวน 6 ฉบับ เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ฉบับที่ 1 ประเมินสภาพบริบทของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำนวน 9 ข้อ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.89 ฉบับที่ 2 ประเมินปัจจัยนำเข้าในการดำเนิน จำนวน 11 ข้อ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 ฉบับที่ 3 ประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำนวน 25 ข้อ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 ฉบับที่ 4 ประเมินผลผลิตจากการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำนวน 10 ข้อ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน ผู้ปกครอง มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.93 ฉบับที่ 5 ประเมินความพึงพอใจจากการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำนวน 10 ข้อ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ นักเรียน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 และฉบับที่ 6 ประเมินความพึงพอใจจากการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ ผู้ปกครอง มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) และหาค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินในแต่ละด้าน พบว่า
1. ด้านสภาพบริบทของโครงการ พบว่า ผลการประเมินสภาพบริบทของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ โครงการมีความเหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปัจจุบัน ส่วนรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ โครงการมีการกำหนดบทบาทหน้าที่บุคลากรผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ พบว่า ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโครงการ ส่วนรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ มีความเพียงพอของงบประมาณต่อการดำเนินงานและความพร้อมของสถานที่ที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม
3. ด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการ พบว่า ผลการประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ การจัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและความร่วมมือจากผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียน และการแยกนักเรียนออกเป็น กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา ส่วนรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การใช้หลักจิตวิทยาในการให้คำปรึกษาเมื่อนักเรียนมีปัญหาไม่กล้าที่จะปรึกษาครู การจัดกระทำข้อมูลนักเรียนให้ทันต่อการนำไปใช้ และการสำรวจความต้องการของนักเรียนในการจัดกิจกรรม
4. ด้านผลผลิตและความพึงพอใจของโครงการ พบว่า การประเมินผลผลิตจากการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ นักเรียนได้รับการเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิต การเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา การจัดกิจกรรมป้องกันปัญหายาเสพติดรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพและความแตกต่างระหว่างบุคคล
ผลการประเมินความพึงพอใจจากการดำเนินโครงการตามความคิดเห็นของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงออกอย่างหลากหลาย รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การจัดกิจกรรมโฮมรูม
ผลการประเมินความพึงพอใจจากการดำเนินโครงการตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ นักเรียนในปกครองของท่านได้รับการดูแลเอาใจใส่ในด้านความปลอดภัย รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนในปกครองของท่านได้รับการพัฒนาในด้านคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่ดี และนักเรียนในปกครองของท่านมีผลการเรียนที่ดีขึ้น