บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อประเมินการดำเนินงานโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่แก้ว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2
ตามรูปแบบ CIPP MODEL กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครู จำนวน 8 คน นักเรียนระดับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 29 คน ผู้ปกครอง จำนวน 82 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) ตามวิธีการของลิเคอร์ท (Likert) คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด มี 4 ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ 1 เป็นแบบประเมินเพื่อการประเมินด้านบริบท (Context) มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 ฉบับที่ 2 เป็นแบบประเมินเพื่อการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 ฉบับที่ 3 เป็นแบบประเมินเพื่อการประเมินด้านกระบวนการ (Process) มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 และฉบับที่ 4 เป็นแบบประเมินเพื่อการประเมินด้านผลผลิต (Product) มีค่าความเชื่อมั่น
เท่ากับ 0.95 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่แก้ว
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 สรุปผลได้ดังนี้
1. ด้านบริบท (Context) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่แก้ว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2
โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านแล้วเรียงอันดับจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียนมีนโยบายชัดเจนในการดำเนินการโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน วัตถุประสงค์ของโครงการช่วยให้ครูสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนได้ และวัตถุประสงค์ของโครงการมุ่งเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับครู ส่วนอันดับสุดท้าย คือ วัตถุประสงค์ของโครงการช่วยให้ครูคัดกรองนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่แก้ว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อแล้วเรียงอันดับจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่
มีการจัดสภาวะแวดล้อมในโรงเรียนให้มีความปลอดภัยและเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน ผู้บริหารให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการอำนวยการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
อย่างต่อเนื่องและผู้นำชุมชน องค์กรในท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ส่วนอันดับสุดท้าย คือ ผู้ปกครองร่วมมือกับโรงเรียนในการส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียน และครูมีความรู้ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดีในบทบาทหน้าที่การดูแลช่วยเหลือนักเรียน
3. ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่แก้ว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อแล้วเรียงอันดับจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่
ครูประจำชั้นจำแนกคัดกรองนักเรียนตามแนวทางและเกณฑ์ที่กำหนด ครูประจำชั้นมีการจัดกิจกรรมโฮมรูม (Home Room) อย่างเหมาะสม และครูประจำชั้นนำข้อมูลนักเรียนไปใช้ในการส่งเสริม พัฒนา ช่วยเหลือนักเรียน ส่วนอันดับสุดท้าย คือ โรงเรียนมีกิจกรรมส่งเสริมในกลุ่มเพื่อนนักเรียนอย่างหลากหลาย เช่น เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ดูแลน้อง
4. ด้านผลผลิต (Product) พบว่า ผลการประเมินโครงการระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองไผ่แก้ว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อแล้วเรียงอันดับจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ นักเรียนมีทักษะในการสื่อสาร รับรู้ สร้างความเข้าใจถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด การทักทาย
และการปฏิเสธอย่างเหมาะสม นักเรียนได้นำกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดให้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และนักเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม
ส่วนอันดับสุดท้าย คือ นักเรียนปฏิบัติตามกฎ กติกา ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนและสังคม
ได้อย่างเหมาะสม