การดำเนินการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาคุณลักษณะของครูสะเต็มและบริบทในการพัฒนาคุณลักษณะของครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษา 2 )เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะของครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
3) เพื่อดำเนินการพัฒนาคุณลักษณะของครูเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 4) เพื่อถอดบทเรียนจากการพัฒนาครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัย
เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม วิธีดำเนินการวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาคุณลักษณะของครูสะเต็มและบริบทในการพัฒนาคุณลักษณะของครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาโดยการสังเคราะห์เอกสาร 2) สร้างแนวทางการพัฒนาครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย ขั้นเตรียมการและขั้นวางแผนด้วยเทคนิคการวางแผนแบบมีส่วนร่วม (AIC) 3) ดำเนินการพัฒนาคุณลักษณะของครูสะเต็ม
ในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย ขั้นปฏิบัติ
ขั้นสังเกต และขั้นสะท้อนผล และ 4) การถอดบทเรียน ซึ่งผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ผู้วิจัย ผู้ร่วมวิจัย
รวม 16 คน ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ผลการศึกษาคุณลักษณะครูสะเต็มและบริบทในการพัฒนาครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษา พบว่า คุณลักษณะครูสะเต็มมี 3 ด้าน คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน และด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพซึ่งมีจำนวน 13 คุณลักษณะ 57 ตัวบ่งชี้สำหรับผลการศึกษาบริบทในโรงเรียนบ้านอายเลา พบว่า มีการเตรียมพร้อมในทุกด้าน ได้แก่
การพัฒนาครูสะเต็ม งบประมาณ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และระบบการบริหารจัดการ,กระบวนการพัฒนามีการส่งเสริมด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย มีผลการพัฒนาที่ดีแม้พบปัญหาอุปสรรคบางประการแต่พร้อมที่จะพัฒนาต่อยอด
2. ผลการสร้างแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือการพัฒนาเครือข่ายครูสะเต็มออนไลน์
การปรับแผนพัฒนาตนเองรายบุคคล การพัฒนาสะเต็มศึกษาด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูสะเต็ม (PLC) และการจัดนิทรรศการแสดงผลผลิตของสะเต็มศึกษา
3. ผลการพัฒนาคุณลักษณะของครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม พบว่า ครูสะเต็มทุกคนมี 1) เครือข่ายร่วมพัฒนา 2) แผนพัฒนาตนเอง
ที่เน้นพัฒนาคุณลักษณะครูสะเต็ม 3) การนิเทศทั้งจากภายในและภายนอกโรงเรียน 4) ผลงานและคุณลักษณะของครูสะเต็มทั้ง 3 ด้าน
4. ผลจากการถอดบทเรียนจากการพัฒนาครูสะเต็มในโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมพบว่าการพัฒนาครูสะเต็มไปพร้อมกับการทำวิจัยมีความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและสอดคล้องกับการพัฒนาคุณลักษณะครูสะเต็ม โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาครูสะเต็มในโรงเรียน คือ 1) การมีผู้นำที่ดีในการพัฒนาครูสะเต็มในโรงเรียน
2) ความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3) การมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการพัฒนาครูสะเต็ม
อย่างต่อเนื่อง 4) การสร้างเครือข่ายในการพัฒนาครูสะเต็มทั้งในและนอกโรงเรียน และ 5) การสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศด้านคุณลักษณะและการพัฒนาครูสะเต็ม