ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านนันทาราม(นันทราษฎร์วิทยา) จังหวัดแพร่
ผู้รายงาน นายชำนาญ แปงเขียว
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านนันทาราม(นันทราษฎร์วิทยา) อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโรงเรียน บ้านนันทาราม(นันทราษฎร์วิทยา) อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ สำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 ในด้านบริบทของโครงการ (Context Evaluation) ด้านปัจจัยการดำเนินงานของโครงการ(Input Evaluation) ด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการ(Process Evaluation) และด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation) โดยประยุกต์ใช้รูปแบบ CIPP Model มาประยุกต์เป็นกรอบในการประเมินโครงการ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 2 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านนันทาราม(นันทราษฎร์วิทยา) จำนวน 7 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 6 จำนวน 14 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 14 คน รวมทั้งหมด 37 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เสนอในรูปแบบตารางประกอบการบรรยาย
ผลการประเมินโครงการสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนบ้านนันทาราม (นันทราษฎร์วิทยา) จังหวัดแพร่ ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.1 ด้านบริบท (Context ) พบว่า โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการพบว่า รายการที่มีผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ โครงการสอดคล้องกับความต้องการของครู ผู้ปกครองและชุมชน รองลงมา คือ โครงการสามารถแก้ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน และรายการที่มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ อยู่ในระดับมาก
1.2 ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) พบว่า โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการพบว่า รายการที่มีผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ รองลงมา คือ ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบมีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการดำเนินโครงการ และรายการที่มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ มีวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในโครงการอย่างเพียงพอ อยู่ในระดับมาก
1.3 ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการพบว่า รายการที่มีผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ มีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบแก่บุคลากรในการดำเนินโครงการ รองลงมา คือ โรงเรียนมีการเผยแพร่และขยายผลการปฏิบัติกิจกรรมสู่เครือข่ายการศึกษาและชุมชน และรายการที่มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ รูปแบบการจัดกิจกรรมในโครงการช่วยให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรม อยู่ในระดับมาก
1.4 ด้านผลผลิต (Product) พบว่า พบว่า โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการพบว่า รายการที่มีผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ คุณลักษณะด้านอยู่อย่างพอเพียง รองลงมา คือ คุณลักษณะด้านมุ่งมั่นในการทำงาน และรายการที่มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ คุณลักษณะด้านซื่อสัตย์ สุจริต อยู่ในระดับมาก
2. ด้านคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับของครู คณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน พบว่า โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายการพบว่า รายการที่มีผลการประเมินมีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ สามารถนำความรู้ที่ได้จากโครงการไปใช้กับปฏิบัติงานที่รับผิดชอบ รองลงมา คือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติตนให้มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน และรายการที่มีผลการประเมินค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ อยู่ในระดับมาก