ชื่อเรื่อง : รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานประยุกต์ใช้แนวคิด OKRs ด้วยเครือข่ายนิเทศ
ตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการวิจัยของครูคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 1-3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ในเขตพัฒนาพิเศษ
ภาคตะวันออก
ผู้วิจัย สุภลักษณ์ สีใส
ปีการศึกษา 2564
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของสมรรถนะการวิจัยของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 2) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการนิเทศเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการวิจัยของครูคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3) เพื่อสร้างรูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานประยุกต์ใช้แนวคิด OKRs ด้วยเครือข่ายนิเทศตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการวิจัยของครูคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 4) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานประยุกต์ใช้แนวคิด OKRs ด้วยเครือข่ายนิเทศตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการวิจัยของครูคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 5) เพื่อประเมินประสิทธิผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานประยุกต์ใช้แนวคิด OKRs ด้วยเครือข่ายนิเทศเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการวิจัยของครูคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยและกระบวนการวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่าง 1) วิเคราะห์องค์ประกอบของสมรรถนะการวิจัยของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 350 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน 2) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการนิเทศเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการวิจัยของครูคณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 188 คน ได้มาโดยใช้สูตรยามาเน่ 3) สร้างรูปแบบการนิเทศ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 36 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง 4) ทดลองใช้รูปแบบการนิเทศ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 คนโดยการเลือกแบบเจาะจง 5)ประเมินประสิทธิผลการใช้รูปแบบกับครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) รูปแบบการนิเทศ 2) แบบวัดความรู้พื้นฐานการวิจัย 2) แบบประเมินทักษะการวิจัย 3) แบบประเมินคุณลักษณะและแรงจูงใจ 4) แบบประเมินวัฒนธรรมการวิจัยและ 5) แบบประเมินการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที (t test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. โมเดลการวัดสมรรถนะวิจัยของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ
(1) ด้านความรู้ในการวิจัย (2) ด้านทักษะการวิจัย (3) ด้านคุณลักษณะและแรงจูงใจ (4) ด้านวัฒนธรรมการวิจัย และ(5) ด้านนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลการวัดสมรรถนะวิจัยของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 พบว่าโมเดลการวัดสมรรถนะวิจัยของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ฯ มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยพิจารณาจากค่า x^2=1.304, df =4, x^2/df=.326, P-value = .998, GFI =.999, CFI = 1.000, RMSEA= .000
2. สภาพปัจจุบันครูมีสมรรถนะการวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับปานกลาง (x̄ = 3.25) สภาพปัญหาครูขาดสมรรถนะการวิจัยอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.20) และมีความต้องการนิเทศเพื่อพัฒนาสมรรถนะการวิจัยอยู่ในระดับมาก (x̄= 4.75)
3. รูปแบบการนิเทศ มี 6 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) กระบวนการนิเทศ 5) การวัดผลและประเมินผล และ 6) เงื่อนไขความสำเร็จ ประกอบด้วยกระบวนการนิเทศ มี 6 ขั้นตอน คือ 1) การค้นหาความต้องการ 2) การวางแผนการนิเทศผสานแนวคิด OKRs 3) การให้ความรู้ก่อนการนิเทศ 4) การดำเนินการนิเทศ 5) การประเมินผลการนิเทศ และ 6) การสะท้อนผล โดยวิธีการนิเทศใช้แบบผสมผสาน คือ การนิเทศออนไลน์, การนิเทศชี้แนะ, การนิเทศสะท้อนผล,การนิเทศเสริมพลังอำนาจ,การนิเทศด้วยการใช้การวิจัยเป็นฐานและการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ
มีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ .96 ผลการทดลองใช้ พบว่าผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ในการวิจัย โดยมีคะแนนก่อนอบรม เฉลี่ย 16.50 คะแนน และหลังอบรมมีคะแนนเฉลี่ย 23.40 คะแนน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ .05 ครูมีทักษะการวิจัยเฉลี่ยร้อยละ 70.00 มีคุณลักษณะและแรงจูงใจ ร้อยละ 80.15 มีวัฒนธรรมการวิจัย ร้อยละ 73.46 และมีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 85.23
4) ผลการประเมินประสิทธิผลการใช้รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสานประยุกต์ใช้แนวคิด OKRs ด้วยเครือข่ายนิเทศตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อส่งเสริมสมรรถนะการวิจัยของครูคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชลบุรี ระยอง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พบว่า ครูผู้เข้าร่วมอบรม มีคะแนนความรู้ในการวิจัยก่อนอบรม เฉลี่ย 15.40 คะแนน และหลังอบรม เฉลี่ย 24.40 คะแนน โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ .05 มีทักษะการวิจัยเฉลี่ยร้อยละ 72.00 มีคุณลักษณะและแรงจูงใจ ร้อยละ 82.15 มีวัฒนธรรมการวิจัย ร้อยละ 75.46 และมีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 89.45
คำสำคัญ: รูปแบบการนิเทศแบบผสมผสาน, กระบวนการนิเทศ, OKRs